ปภ.ประสานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ เตรียมรับมือสภาพอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น

18 Dec 2017
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ เตรียมรับมือสภาพอากาศหนาวเย็น จึงได้ประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงสำรวจความต้องการเครื่องกันหนาว จัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และแจกจ่ายเครื่องกันหนาวแก่ผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจากภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญเหตุ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นลงโดยทั่วไปกับมีลมแรง โดยในช่วงวันที่ 17 – 18 ธันวาคม 2560 อุณหภูมิจะลดลง 3 – 5 องศาเซลเซียส รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนยอดดอยมีอากาศหนาวจัดและมีน้ำค้างแข็งในบางพื้นที่ จากนั้นในช่วงวันที่ 19 – 21 ธันวาคม 2560 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างต่อเนื่อง อุณหภูมิลดลงอีก 2 – 3 องศาเซลเซียส กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคกลาง จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศหนาวเย็น โดยสำรวจความต้องการเครื่องกันหนาวและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดหาและแจกจ่ายเครื่องกันหนาวแก่ผู้ประสบภัยหนาวอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ เน้นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กไร้ผู้อุปการะ คนพิการทุพพลภาพ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศหนาว รวมถึงวางมาตรการป้องกันภัยเชิงรุกให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบจากภัยในช่วงฤดูหนาว ทั้งไฟป่า หมอกควัน เพลิงไหม้ในช่วงสภาพอากาศแห้ง อุบัติเหตุทางถนนในช่วง หมอกลงจัด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยในช่วงฤดูหนาว

นายชยพล กล่าวต่อไปว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นกับฝนตกหนักบางแห่ง จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจากภาวะฝนตกหนักและคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง และจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยประสานแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ลุ่มต่ำริมน้ำไหลผ่าน บริเวณชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดให้เตรียมการป้องกันและระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม โดยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ทะเลมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควร งดออกจากฝั่งในระยะนี้ ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป