เดินหน้าจัดตั้ง มหาวิทยาลัย “ซีเอ็มเคแอล” รับโรดแมปชาติ รองรับโครงการ EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยอุตสาหกรรมขั้นสูง

23 Nov 2017
· มหาวิทยาลัย "ซีเอ็มเคแอล" เปิดรับสมัครนักศึกษา ป.เอก – ป.โท รุ่นแรก นำร่อง 2 สาขา ที่ไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ "วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์" –"วิศวกรรมซอฟต์แวร์" ยกศักยภาพแข่งขันทัดเทียมประเทศโลกที่ 1
เดินหน้าจัดตั้ง มหาวิทยาลัย “ซีเอ็มเคแอล” รับโรดแมปชาติ รองรับโครงการ EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยอุตสาหกรรมขั้นสูง

มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) เผย 4 นโยบายสู่การเป็นสถาบันการศึกษาตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามโรดแมปของรัฐบาล ดังนี้ 1. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทางนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ 2. มุ่งสู่การเป็นสถาบันหลักด้านวิชาการของประเทศและนานาชาติ 3. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ และ 4. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้แบบ Problem-Based, Case – Based และ Search-Based นำร่องเปิดสอนปีการศึกษา 2561 ใน 2 สาขาวิชาที่ประเทศไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ "สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์" ระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และ "สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์" ระดับปริญญาโท ผู้สนใจสามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดและสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.cmkl.ac.th ตั้งแต่วันนี้ – สิ้นเดือน ธ.ค. 2560

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การจัดตั้ง "มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล" (CMKL University) โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยไทยโดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ถือเป็นต้นแบบการจัดการศึกษาเพื่อถ่ายทอดวิทยาการและองค์ความรู้ ภายใต้การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจำเป็นต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาการที่มีคุณภาพและทันสมัย เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมขั้นสูง อย่างไรก็ตาม การเปิดให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เข้ามาเปิดดำเนินการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 29/2560 หรือ ม.44 นั้น จะก่อให้เกิดผลดีในแง่การแข่งขันและพัฒนาหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อให้ทัดเทียมกับสถาบันจากต่างประเทศ

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดได้มีการลงนามข้อตกลงทางวิชาการ ณ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลนั้น จะอยู่ภายใต้นโยบาย 4 ด้าน เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามโรดแมปของรัฐบาล ดังนี้ 1. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทางนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนา พร้อมสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมหาวิทยาลัยมีคณาจารย์และบุคลากรที่มีผลงานวิจัยระดับคุณภาพ ได้รับการยอมรับและยกย่องในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2. มุ่งสู่การเป็นสถาบันหลักด้านวิชาการของประเทศและนานาชาติ หนึ่งในภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล คือการเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้การพัฒนาประเทศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนชั้นนำจากนานาชาติ นำมาสรุปและรวบรวมเป็นองค์ความรู้ที่สมบูรณ์แบบที่สุด 3. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลเกิดขึ้นจากเป้าประสงค์ในการรองรับยุทธศาสตร์ชาติ จึงมีวางหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ภายใต้การถ่ายทอดองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงในต่างประเทศ และการฝึกในการเรียนการสอนทุกหลักสูตร และ 4. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้แบบ Problem-Based, Case – Based และ Search-Based เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนจากประเด็นปัญหาจริงด้วยตนเอง สามารถลงมือทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับโจทย์ภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง

"เป้าหมายหลักของการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล คือต้องการให้นักศึกษาได้ทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติได้อย่างตรงจุด ดังนั้น รูปแบบการเรียนการสอนนอกจากจะเน้นไปที่องค์ความรู้ทางวิชาการ โดยการส่งนักศึกษาไปเรียนกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญยังสหรัฐอเมริกาแล้ว ผู้เรียนจะต้องกลับมาฝึกปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการภาคเอกชน ที่ลงนามเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ร่วมลงนามแล้วหลายกลุ่มธุรกิจ เท่ากับว่าระหว่างการเรียนทั้งในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท นักศึกษาจะได้ศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพลิกโฉมการศึกษาไทย เพราะที่ผ่านมาองค์ความรู้จากงานวิจัยต่างๆ ในประเทศ ส่วนใหญ่มักไม่ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดใช้งาน ทำให้สูญเสียโอกาสในการยกระดับองค์ความรู้ และศักยภาพของประเทศในการแข่งขันกับนานาชาติ" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวเสริมว่า ในปีการศึกษาแรกของมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล จะนำร่องเปิดสอน 2 สาขาวิชา คือ "สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์" ในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท และ "สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์" ในระดับปริญญาโท โดยมีหลักสูตรครอบคลุมด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ ด้านระบบสารสนเทศและการให้บริการ ด้านดาต้าและการป้องกันภัยไซเบอร์ ด้านหุ่นยนต์สมองกลและการควบคุมจักรกลอัตโนมัติ ด้านปัญญาประดิษฐ์(AI) และด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการและมาตรฐานเดียวกับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อจบการศึกษาจึงได้ปริญญาบัตรเหมือนกับเรียนที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนทุกประการ โดยมีรูปแบบการเรียนการสอน ดังนี้

· ระดับปริญญาเอก ระยะเวลาเรียน 5 ปี โดยเรียนในไทย 2 ปี และที่สหรัฐอเมริกา 3 ปี มุ่งเน้นคุณภาพของนักศึกษาและอาจารย์ให้เทียบเท่าระดับสากล ซึ่งการใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการเรียนการสอนที่สหรัฐอเมริกา เพื่อดึงดูดนักศึกษาและนักวิจัยที่มีความสามารถจากในประเทศและภูมิภาคอาเซียน เข้ามาช่วยกันสร้างสรรค์งานวิจัยที่สอดคล้องกับปัญหาและสภาพแวดล้อมของไทย รวมทั้งริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลภายใน 5-10 ปี ทำให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีของตนเอง และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของภูมิภาค

· ระดับปริญญาโท ระยะเวลาเรียน 2 ปี โดยเรียนในไทย 1 ปี และที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี เพื่อพัฒนาบุคลากรภาครัฐและเอกชนให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการสร้างนวัตกรรมออกสู่ตลาดโลกภายในระยะเวลา 2-3 ปี

โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอลได้เปิดให้ผู้สนใจสมัครเข้ารับคัดเลือก เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกและปริญญาโทแล้ว สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย www.cmkl.ac.th จากนั้นจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ครบถ้วน และสมัครได้ตามช่องทางที่ระบุ ตั้งแต่วันนี้ – สิ้นเดือน ธ.ค. 2560 ส่วนการเปิดสอนอย่างเป็นทางการจะเริ่มในเดือน ส.ค. ปี 2561 เป็นต้นไป

นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือคลิกเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th หรือ www.cmkl.ac.th

เดินหน้าจัดตั้ง มหาวิทยาลัย “ซีเอ็มเคแอล” รับโรดแมปชาติ รองรับโครงการ EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยอุตสาหกรรมขั้นสูง เดินหน้าจัดตั้ง มหาวิทยาลัย “ซีเอ็มเคแอล” รับโรดแมปชาติ รองรับโครงการ EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยอุตสาหกรรมขั้นสูง เดินหน้าจัดตั้ง มหาวิทยาลัย “ซีเอ็มเคแอล” รับโรดแมปชาติ รองรับโครงการ EEC ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยอุตสาหกรรมขั้นสูง