วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “ไกก้อน” สาหร่ายมาริโมะพันธ์ไทยครั้งแรก เล็งภาครัฐหนุนต่อยอดพืชน้ำ เป็น “อีโค่บอลพันธุ์ใหม่” ฟื้นฟูแหล่งน้ำ

03 Jul 2018
นักวิจัย วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว "ไกก้อน" ทรงโดม ตัวแรกของไทย พร้อมคุณสมบัติดูดซับสารพิษกลุ่มโลหะหนัก ฟอสเฟต และไนเตรต
วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “ไกก้อน” สาหร่ายมาริโมะพันธ์ไทยครั้งแรก เล็งภาครัฐหนุนต่อยอดพืชน้ำ เป็น “อีโค่บอลพันธุ์ใหม่” ฟื้นฟูแหล่งน้ำ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว "ไกก้อน-มาริโมะเมืองไทย" นวัตกรรมสาหร่ายทรงกลมพันธุ์ไทยครั้งแรก ที่ได้รับการดัดแปลงรูปแบบจาก 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ "เซลล์สาหร่ายไกในระยะพัก" และ "สารขึ้นรูป" มาทำปฏิกิริยาและสร้างโครงข่ายร่วมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม และขึ้นรูปทรงสวยงามใน 2-3 สัปดาห์ มาพร้อมคุณสมบัติช่วยดูดซับสารเคมีในแหล่งน้ำในกลุ่มของโลหะหนัก ฟอสเฟต และไนเตรต ซึ่งล้วนแล้วก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามาถ ใช้ตกแต่งตู้ปลา และเป็นอาหารของสัตว์ โดยที่ไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างเพิ่มเติมในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ทีมนักวิจัย ยังสามารถตรึงสาหร่ายไกให้ขึ้นรูปเป็น "ทรงโดม" ที่มีคุณสมบัติและความสามารถพิเศษเช่นเดียวกับไกก้อน เพื่อสะท้อนถึง 'ตึกโดม' อัตลักษณ์อันโดดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หากรัฐเดินหน้าหนุนการผลิตไกก้อนจำนวนมาก จะช่วยเร่งฟื้นฟูแหล่งน้ำให้มีคุณภาพและสะอาดยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับมูลค่า "สาหร่ายไก" สู่พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ คณะฯ ได้จัดพิธีเปิดตัว เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องกระจก ชั้น 1 อาคารบรรยายรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต

รศ.ดร.สุเปญญา จิตตพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสาหร่ายและแพลงก์ตอน กล่าวว่า ทีมนักวิจัย คิดค้นและพัฒนา "ไกก้อน" มาริโมะเมืองไทย นวัตกรรมสาหร่ายทรงกลมพันธุ์ไทยครั้งแรก ที่ได้รับการดัดแปลงรูปแบบจาก 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ "เซลล์สาหร่ายไกในระยะพัก" (Resting Stage) และ "สารขึ้นรูป" (Alginate) มาทำปฏิกิริยาและสร้างโครงข่ายร่วมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม และขึ้นรูปเป็นทรงกลมพร้อมบรรจุขวดทดลองและบิกเกอร์ที่มีอาหารเลี้ยงเชื้อสาหร่าย ขนาด 250 และ 500 มิลลิลิตร ขึ้นกับขนาดของบอลสาหร่ายจากนั้นตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิและมีแสงสว่างเหมาะสม เพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้น สาหร่ายจะจับตัวเป็นก้อนกลม และมีขนยาวสวยพร้อมใช้งานทันที ทั้งนี้ "สาหร่ายไก" (Cladophora) ถือเป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวสายพันธุ์ไทย ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและสามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืด ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำไหล และน้ำนิ่ง ในระดับความลึกไม่เกิน 1 เมตร โดยจะมีลักษณะเป็นเส้นสายขนาดยาว มีผิวสัมผัสลื่น จับตัวกันเป็นแพสีเขียว และไม่สวยงาม

ซึ่ง "ไกก้อน" ถือเป็นการต่อยอดจุดเด่นของสาหร่ายไก ให้เป็นพืชน้ำรูปแบบใหม่ที่สามารถดูดซับสารเคมีในแหล่งน้ำ ควบคู่ไปกับใช้ตกแต่งตู้ปลา และเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ที่สามารถปรับตัวเข้ากับในสภาพอากาศของไทยได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีศักยภาพทั้งในแง่ของการเป็นตัวช่วยดูดซับสารเคมีในแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดังนั้น หากผลการทดสอบและพัฒนาประสิทธิภาพเรียบร้อยแล้ว "ไกก้อน" จะสามารถดูดซับสารเคมีที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ จากทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรได้ อาทิไนเตรต ฟอตเฟส รวมถึงโลหะหนักบางชนิด โดยไม่กระทบสัตว์น้ำหรือทิ้งสารพิษตกค้างเพิ่มเติมในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าว ใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยและพัฒนา เป็นเวลากว่า 1 ปี โดยมี รศ.ดร.เทพปัญญา เจริญรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ เป็นที่ปรึกษาร่วม ผศ.ดร.สุเปญญา กล่าว

ด้าน นายราเมศ จุ้ยจุลเจิม นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ทีมวิจัยนวัตกรรมสาหร่าย "ไกก้อน" มาริโมะเมืองไทย กล่าวเสริมว่า "ไกก้อน" มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก หากได้รับการพัฒนาและผลิตให้มีปริมาณเพียงพอต่อแหล่งน้ำเสีย จะสามารถช่วยบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และยกระดับ "สาหร่ายไก" สู่พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลแก่ประเทศไทยได้ในอนาคต ทั้งนี้ ในอนาคตเตรียมพัฒนาคุณสมบัติการดูดซับสารเคมีให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้นเพื่อวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ทีมนักวิจัย ยังสามารถตรึงสาหร่ายไกให้ขึ้นรูปเป็น "ทรงโดม" ที่มีคุณสมบัติและความสามารถพิเศษเช่นเดียวกับไกก้อน เพื่อสะท้อนถึง 'ตึกโดม' อัตลักษณ์อันโดดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบสารเคมีเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำทั้ง 7 สายหลักของไทย ประกอบด้วย แม่น้ำท่าจีน เจ้าพระยาตอนบนและล่าง น้ำพอง บางปะกง แม่กลอง และทะเลสาบสงขลา จากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม โดยรอบจำนวน 68 โรง จากจำนวนโรงงานที่ผ่านการตรวจสอบแล้วทั้งหมด 1,044 โรง (ที่มา: กระทรวงอุตสาหกรรม, 2560)

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสังคมในทุกมิติ จึงมีนโยบายส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อบ่มเพาะทักษะให้แก่นักศึกษา ผ่านภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) สู่งานวิจัยที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่สามารถช่วยแก้ปัญหา และยกระดับคุณภาพสังคมไทย ได้หลากหลายด้าน อาทิ นวัตกรรม "ถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน" เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชมพู่ส่งออกให้มีสีแดงสม่ำเสมอ เนื้อแน่นกรอบ และรสชาติหวานขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นวัตกรรมขี้เส้นยางพารา เพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่ชาวสวนยาง และลดการนำเข้าคาร์บอนจากต่างประเทศในการพัฒนาเหล็กกล้า ฯลฯ ทั้งนี้ งานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ล้วนมีศักยภาพในการใช้งานได้จริง และต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ อันสะท้อนยุทธศาสตร์คณะในการพัฒนานักศึกษา สู่ "นักวิทย์คิดประกอบการ" (SCI+BUSINESS) อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ได้จัดพิธีเปิดตัว "ไกก้อน" มาริโมะเมืองไทยครั้งแรก กับสาหร่ายพันธุ์ไทยแท้ที่มีความสามารถในการดูดซับสารพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ และตกแต่งตู้ปลาเพื่อความสวยงาม เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องกระจก ชั้น 1 อาคารบรรยายรวม 5 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 2452 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat และเว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th

วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “ไกก้อน” สาหร่ายมาริโมะพันธ์ไทยครั้งแรก เล็งภาครัฐหนุนต่อยอดพืชน้ำ เป็น “อีโค่บอลพันธุ์ใหม่” ฟื้นฟูแหล่งน้ำ วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “ไกก้อน” สาหร่ายมาริโมะพันธ์ไทยครั้งแรก เล็งภาครัฐหนุนต่อยอดพืชน้ำ เป็น “อีโค่บอลพันธุ์ใหม่” ฟื้นฟูแหล่งน้ำ วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว “ไกก้อน” สาหร่ายมาริโมะพันธ์ไทยครั้งแรก เล็งภาครัฐหนุนต่อยอดพืชน้ำ เป็น “อีโค่บอลพันธุ์ใหม่” ฟื้นฟูแหล่งน้ำ