KTBST ชูกลยุทธ์กระจายรายได้บริหารความเสี่ยง ก้าวสู่ผู้นำให้บริการผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินครบวงจร รับมือธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แข่งขันรุนแรง

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          KTBST ชูกลยุทธ์กระจายรายได้บริหารความเสี่ยง ก้าวสู่ผู้นำให้บริการผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินครบวงจร รับมือธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แข่งขันรุนแรง มั่นใจผลงานไตรมาส 2/62 เติบโตต่อเนื่อง คงเป้ารายได้ปีนี้แตะ1,300 -1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% มองครึ่งปีหลังดีขึ้น ลุ้นสงครามการค้าไม่ยืดเยื้อ 
          ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเน้นกระจายธุรกิจเพื่อยกระดับการให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรมากขึ้น รับมือกับภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เน้นการกระจายรายได้จากหลายช่องทาง ควบคู่การแนะนำบริหารความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน
          ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/62 บริษัทมีรายได้รวม 322.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิอยู่ที่ 23.7 ล้านบาท โดยมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริการ เพิ่มขึ้นมาเป็น 50 - 60% จากสิ้นปี 61 ที่มีสัดส่วน 40% ขณะที่สัดส่วนรายได้ธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ลดลงเหลือ 30 - 40% จากสิ้นปี 61 ที่มีสัดส่วน 50%
          "ทิศทางผลประกอบการไตรมาส 2/62 เชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารายได้ธุรกิจให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์น่าจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์รวมที่ลดลง แต่บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น งานวาณิชธนกิจ งานตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุน งานบริการทางการเงิน อีกทั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (บลจ.วี) บริษัทในเครือ KTBST ได้มีการเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบในไตรมาส 2 ที่มีนโยบายมุ่งสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ตามสภาวะการลงทุนแต่ละช่วง โดยปัจจุบันได้เสนอขายกองทุนกองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ต่างประเทศ อาทิ ลงทุนในสหรัฐฯ,จีน,และอินเดีย เป็นต้น ซึ่งลูกค้าให้การตอบรับอย่างดี ล่าสุด บลจ.วี อยู่ระหว่างศึกษาโอกาสในการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย" ดร.วิน กล่าว
          นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องมือการลงทุน โดยที่ผ่านมาได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น KTBST SMART เป็นแพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลผลิตภัณฑ์การลงทุนของ KTBST ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตราสารทุนหรือหุ้น ตราสารหนี้ อนุพันธ์ กองทุนรวม และการลงทุนต่างประเทศ ไว้ในที่เดียว เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าของ KTBST ในการที่จะดูพอร์ตการลงทุน และข้อมูลการลงทุน เพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนพร้อมมุ่งเน้นพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธุรกรรมการฝากและถอนเงินในบัญชี และรองรับการซื้อขายกองทุนรวม นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดบริการ KTBST SOCIAL TRADING รายแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านแอพพลิเคชั่น SKYNET Stock Trading ซึ่งเป็นนวัตกรรมการลงทุนในรูปแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์คุณภาพที่แบ่งปันข้อมูล แนวคิด และกลยุทธ์การลงทุน สำหรับนักลงทุนออนไลน์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในสังคมผ่านการปฏิบัติจริง
          ดร.วิน กล่าวต่อว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 62 ที่ 1,300 – 1,400 ล้านบาท หรือเติบโต 26% ตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยบริษัทมุ่งเน้นขยายธุรกิจให้มีความหลากหลาย ทั้งธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (AUA) มุ่งเติบโตเป็น 80,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น33.33% จากปี 61 ที่ 60,000 ล้านบาท ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) เติบโตเป็น 3,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50%ที่ 2,000 ล้านบาท ธุรกิจตัวแทนซื้อขายหน่วยลงทุนตั้งเป้า AUA ที่ระดับ 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% ที่ 10,000 ล้านบาท ขณะที่ บลจ. วี ตั้งเป้า AUM เติบโต 6,000 ล้านบาท และเคทีบีเอสที รีทส์ แมเนจเม้นท์ ตั้งเป้าตั้งกองรีทจำนวน 3 กองทุน มูลค่ารวมกันประมาณ 6,000 ล้านบาท รวมถึงตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งการตลาดของการซื้อขาย TFEX ให้ติดอันดับ 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรม
          นายชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ KTBST กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 62 ว่า ช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนสูง จากภาวะสงครามการค้าที่กดดันเศรษฐกิจไปทั่วทั้งโลก ซึ่งคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไป และอาจขยายไปยังคู่เจรจาอื่นนอกจากสหรัฐและจีนด้วย
          อย่างไรก็ดี KTBST ประเมินว่าสงครามการค้าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และอาจสามารถหาข้อสรุปได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของประเทศคู่เจรจา รวมถึงเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัวจะกดดันให้คณะผู้เจรจาการค้าจำเป็นต้องหาหนทางยุติสงครามการค้าโดยเร็ว การเจรจากันที่สำคัญคาดว่าจะเริ่มในรอบการประชุม G20 ช่วงวันที่ 28 มิถุนายน 62 นี้ โดยคาดว่าจีนต้องการที่จะจบประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสียหายจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มจะกดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ที่ใกล้จะหมดวาระ จำเป็นต้องมีผลงานเชิงประจักษ์อย่างการเจรจาต่อรองทางการค้ากับจีนให้เป็นผลสำเร็จและเป็นชาติแรกของโลก เพื่อใช้ในการหาเสียงในการสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปี 63 ต่อไป
          สำหรับคำแนะนำการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มองว่าการปรับตัวลดลงของสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น เป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นที่แนวโน้มการเติบโตในระยะยาว มีความมั่นคงทางการเมือง และมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่ต่ำ เช่น จีนและอินเดีย เป็นต้น
          โดยประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ 6 – 6.5% ต่อปี ในระยะยาวประเทศจีนตั้งเป้าจะเติบโตปีละ 5.5% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจและสูงกว่าประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวที่ 3% ซึ่งหากอัตราการเจริญเติบโตของจีนยังอยู่ในระดับดังกล่าว ภายในระยะเวลา 3 - 5 ปี ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าชาติมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน จีนยังดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายด้านภาษี การสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน ซึ่งสถานะทางการคลังของจีนยังอยู่ในระดับที่ดีมาก ด้วยปริมาณเงินทุนสำรองที่สูงถึง 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในโลก
          นอกจากนี้นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์การเติบโตของกำไรของตลาดหุ้นจีนในปี 62 อยู่ที่ประมาณ 17% ในขณะที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่ออัตราการเติบโต (PE to Growth ratio) อยู่ในระดับเพียง 0.78 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ถูกกว่าตลาดเกิดใหม่ที่ระดับ 2.8 เท่า และตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ที่1.6 เท่า
สำหรับอินเดีย ยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 7% ต่อปี และมีเสถียรภาพทางการเมืองที่สูงขึ้น หลังจากการเลือกตั้งจบลงในช่วงวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นายนเรนทระ โมที ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน โดยภาพรวมของเศรษฐกิจอินเดียนั้น มีลักษณะเป็นกลุ่มประเทศ และเป็นรัฐศาสนา ซึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันเศรษฐกิจจะมาจากภาคการบริโภคในประเทศ (Private Consumption)
          ขณะที่ปัจจัยรองลงมาจะเป็นการลงทุนในประเทศจากภาคเอกชน (Private Investment) ซึ่งประเทศอินเดียมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำ โดยพบว่าดุลการค้าเมื่อเทียบกับ GDP คิดเป็นเพียง 10% ของ GDP ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของนายโมที จะช่วยหนุนให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพิ่มเติมไปจนถึงปี 66 ผ่านการสร้างถนนไฮเวย์ใหม่ ระบบประปาทั่วประเทศ การสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลสำหรับชุมชน ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นจะช่วยให้เศรษฐกิจอินเดียสามารถเติบโตได้จากปัจจัยในประเทศเป็นหลักคล้ายกับประเทศจีนในช่วงปี 50 - 52 (Closed Economy) นอกจากนี้นักวิเคราะห์ในตลาดคาดการณ์ PE ratio to Growth ของอินเดียอยู่ที่ 0.6 เท่า ซึ่งต่ำกว่าทั้งในตลาดโลกและตลาดเกิดใหม่
          ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สะท้อนให้เห็นโอกาสในการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ อย่างจีนและอินเดียในช่วงที่ตลาดหุ้น ทั้งสองปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดีการลงทุนในต่างประเทศย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มเติม ทั้งในแง่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการลงทุนที่มีจำกัดกว่าการลงทุนในประเทศ และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาด้านความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย
KTBST ชูกลยุทธ์กระจายรายได้บริหารความเสี่ยง ก้าวสู่ผู้นำให้บริการผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินครบวงจร รับมือธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แข่งขันรุนแรง
 
KTBST ชูกลยุทธ์กระจายรายได้บริหารความเสี่ยง ก้าวสู่ผู้นำให้บริการผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินครบวงจร รับมือธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แข่งขันรุนแรง
 

ข่าววิน อุดมรัชตวนิชย์+หลักทรัพย์ เคทีบีวันนี้

ภาพข่าว: KTBST จับมือ Haitong International ขยายธุรกิจการลงทุนทั่วโลก

ดร. วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST พร้อมด้วยนาย จอง คยู คิม ( Mr. Jung Kyu Kim) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายการเงิน KTBST แถลงข่าวความร่วมมือเป็นพันธมิตรด้านการลงทุนกับนาย เฉิน ฉวน (Mr. CHEN Xuan) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไห่ตง อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรเวทเวลธ์ กรุ๊ป ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัทหลักทรัพย์ ไห่ตง อินเตอร์เนชั่นแนล (Haitong International) เพื่อเชื่อมโยงทางธุรกิจกันระหว่างประเทศไทย

KTBST ประกาศจับมือกับ Haitong Internation... KTBST ประกาศจับมือกับ Haitong International ขยายธุรกิจการลงทุนทั่วโลก — KTBST ประกาศจับมือกับ Haitong International ขยายธุรกิจการลงทุนทั่วโลก เพิ่มโอกาสนั...

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร... ภาพข่าว: ดร.วิน คว้ารางวัล CEO ยอดเยี่ยมปี 2019 จากนิตยสาร Asia Asset Management ณ ประเทศสิงค์โปร์ — ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักท...

ฟิทช์จัดสัมมนาเรื่องความเสี่ยงเครดิต 20 ปีหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ

แนวโน้มของการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น (credit spread) และการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทในประเทศไทยที่ทยอยเกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นประเด็นสำคัญที่วิทยากรได้กล่าวถึงในการสัมมนาครึ่งปีของฟิทช์ ...

บลจ.วรรณ ประกาศจ่ายปันผล 3 กองรวมอสังหาริมทรัพย์

บลจ.วรรณ เผย อัตราดอกเบี้ยทรงตัวระดับต่ำ หนุนธุรกิจภาคอสังหาฯ ต่อเนื่อง และเพิ่มความน่าสนใจเข้าลงทุนแนะติดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกในช่วงปลายปี พร้อมประกาศจ่ายปันผล 3 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร...

บดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพ... ภาพข่าว: “ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดคอร์สพัฒนางานด้าน IR เสริมประสิทธิภาพ บจ.” — บดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดอบรม IR Professional Training ป...