ผลวิจัยของธนาคารเอชเอสบีซีเผยว่าบริษัทในเอเชียยกเทคโนโลยี ความยั่งยืน และคนเป็นแรงขับสำคัญของการเติบโตในอนาคต

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          - กว่าครึ่งของบริษัทในเอเชียกำลังลงทุนเพิ่มทักษะแรงงานและใช้เทคโนโลยีเพื่อพลิกโฉมธุรกิจ**
          - ร้อยละ 50 ของบริษัทในเอเชียกำลังยกระดับความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืน**

          ผลสำรวจระดับโลกล่าสุดของธนาคารเอชเอสบีซี เปิดเผยว่า องค์กรธุรกิจทั่วเอเชียเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นว่าโอกาสการเติบโตธุรกิจในอนาคตขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี ความยั่งยืน และการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพเป็นสำคัญ เพื่อใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางด้านดิจิทัล ขณะที่ 1 ใน 3 ขององค์กรธุรกิจในเอเชียกำลังให้ความสำคัญกับการขยายตลาดใหม่ ๆ แต่พบว่ามีธุรกิจจำนวนมากกว่านั้นกำลังหันไปสนใจปรับปรุงผลิตภาพการผลิต (productivity) และเทคโนโลยีใหม่ ๆ 
          ทั้งหมดข้างต้นนี้ เป็นข้อค้นพบที่สำคัญจากการสำรวจครั้งล่าสุดของธนาคารเอชเอสบีซีในหัวข้อ Navigator: Made for the Future โดยได้สอบถามความเห็นขององค์กรธุรกิจกว่า 2,500 แห่งในตลาด 14 แห่งทั่วโลก โดยรวมถึงบริษัทกว่า 1,300 แห่งจากประเทศเศรษฐกิจหลักทั้ง 7 แห่งในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก
          นวัตกรรมสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในเอเชีย
          ผลสำรวจเปิดเผยว่า ร้อยละ 43 ของบริษัทในเอเชียระบุว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต เทียบกับร้อยละ 42 ของบริษัทในยุโรป และร้อยละ 29 ของบริษัทในอเมริกาเหนือ
          ตลาดส่วนใหญ่ในเอเชีย ระบุว่านวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกสำหรับการลงทุน โดยมุ่งเน้น 2 ด้านหลัก นั่นคือ บุคลากรและแพลตฟอร์ม ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้สอดคล้องอย่างมากกับผลสำรวจทั่วโลก
          นายสจ็วต เทต ผู้อำนวยการบริหาร ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี เชื่อว่าบริษัทในเอเชียมีความสุขและเชื่อมั่นต่อภาพรวมในอนาคตมากกว่าบริษัทในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เนื่องจากความคึกคักของเศรษฐกิจในภูมิภาค นายเทตกล่าวเพิ่มเติมว่า "ด้วยความเป็นเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้น ตลอดจนการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชียและกิจกรรมทางการค้าที่มีทิศทางเชิงบวก ธุรกิจจึงกำลังมองเห็นโอกาสมากกว่าการเป็นภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น" 
          นายเทต ยังเชื่ออีกว่าบริษัทในเอเชียกำลังบริหารจัดการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นายเทตกล่าวเพิ่มเติมว่า "บริษัทในเอเชียเข้าใจดีถึงการพลิกโฉมธุรกิจแบบเดิม ๆ และตระหนักว่าผลิตภาพการผลิตและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นสิ่งสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองและความยืนนานของธุรกิจ" 
          การปรับเปลี่ยนไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืนในเอเชีย
          จากผลการวิจัยพบว่า ร้อยละ 44 ของบริษัทในเอเชียคาดหวังที่จะเติบโตราวร้อยละ 3-5 ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทในเอเชียเชื่อมั่นในโอกาสการเติบโตธุรกิจมากกว่าบริษัทในยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนที่ร้อยละ 32 และบริษัทในอเมริกาเหนือ ที่ร้อยละ 30 และบริษัทในเอเชียกำลังแสวงหาโอกาสในการแสดงความรับผิดชอบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อมุ่งไปสู่การเติบโตที่คาดหวังนี้ 
          นายเทต กล่าวว่า กลยุทธ์สำหรับธุรกิจในเอเชียไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเติบโตเสมอไป "ธุรกิจกำลังมุ่งมั่นทุ่มเทด้านความยั่งยืนมากกว่าเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต โดยร้อยละ 50 ของบริษัทกำลังวางแผนที่จะลงทุนด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้น"
          ผลสำรวจยังเปิดเผยถึงความต้องการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่สวนทางกันของบริษัทในเอเชีย เมื่อเทียบกับบริษัทในยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนที่ร้อยละ 39 และบริษัทในอเมริกาเหนือ ที่ร้อยละ 45 โดยในบรรดาตลาดเอเชียที่ทำการสำรวจ พบว่า บริษัทในอินเดีย (ร้อยละ 59) บริษัทในอินโดนีเซีย (ร้อยละ 57) และบริษัทในจีนแผ่นดินใหญ่ (ร้อยละ 60) นำหน้าบริษัทอื่น ๆ ในเอเชีย 
          คุณเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตแล้วหรือยัง
          ผลการสำรวจเปิดเผยว่า เทคโนโลยีกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของบุคลากรในอนาคตในเอเชีย บริษัทหลายแห่งมีวัตถุประสงค์ควบคู่กันสำหรับการใช้เทคโนโลยี โดยมุ่งผลักดันไปสู่การเป็นองค์กรที่เข้าใจความรู้สึกของลูกค้า และการเพิ่มทักษะของบุคลากร
          ในด้านการให้ความสำคัญต่อลูกค้า พบว่า กว่า 3 ใน 4 ของบริษัทในเอเชีย (ร้อยละ 78) เชื่อว่าการบูรณาการเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยให้พนักงานเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น
          นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า การนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจกำลังส่งผลต่อทักษะที่พนักงานจำเป็นต้องมีเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต ร้อยละ 21 ของบริษัทในเอเชียกำลังลงทุนเพื่อเพิ่มทักษะการตลาดดิจิทัล ร้อยละ 17 กำลังลงทุนในแบบแผนธุรกิจอย่างยั่งยืน ร้อยละ 18 กำลังลงทุนด้านการคิดออกแบบระบบ ซึ่งสอดคล้องกับบริษัทอื่น ๆ ในยุโรป และในอเมริกาเหนือ
          นายเทตให้ทัศนะต่อสถานที่ทำงานในอนาคตของเอเชียว่า "ธุรกิจจะแข็งแรงได้ก็ต่อเมื่อบุคลากรมีศักยภาพ ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องฝึกฝนและพัฒนาบุคลากรให้พร้อมด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน" 
          นายเทต กล่าวสรุปว่า "ธุรกิจกำลังให้ความสำคัญกับบุคลากรในการดำเนินงาน แน่นอนว่าบริษัทในเอเชียเห็นว่าการยกระดับทักษะแรงงานและเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่บทพิสูจน์ความสำเร็จของธุรกิจ กลยุทธ์ และบุคลากรของตนเองในอนาคต" 
          การสัมภาษณ์เก็บข้อมูลสำหรับการสำรวจในหัวข้อ Navigator: Made for the Future จัดทำขึ้นในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา จีนแผ่นดินใหญ่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 

          About Navigator: Made for the Future
          รายงานวิจัย หัวข้อ Navigator: Made for the Future ของธนาคารเอชเอสบีซี เป็นรายงานที่ธนาคารฯ มอบหมายให้ Kantar เป็นผู้ดำเนินการวิจัย โดยสำรวจความคิดเห็นองค์กรธุรกิจกว่า 2,500 แห่งที่มียอดขายตั้งแต่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปใน 14 ตลาดหลักทั่วโลก ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา จีนแผ่นดินใหญ่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
          ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจที่สำคัญ และมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจกำหนดทิศทางการดำเนินงานอย่างมียุทธศาสตร์ของบริษัท การวิจัยได้ประเมินบรรยากาศและความคาดหวังของธุรกิจในอนาคตอันใกล้จนถึงระยะกลาง และเนื้อหาวิจัยยังครอบคลุมถึงภาพรวมของธุรกิจ อนาคตของธุรกิจทั้งในแง่ของโอกาสและภัยคุกคาม การจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงนวัตกรรมของธุรกิจ และบุคลากร ความยั่งยืนและปัจจัยแห่งความสำเร็จในอนาคต 
          ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด 
          ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มเอชเอสบีซี โดยให้บริการลูกค้าด้วยธุรกิจระดับโลก 4 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจลูกค้ารายย่อยและบริหารความมั่งคั่ง (Retail Banking and Wealth Management) ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ (Commercial Banking) ธุรกิจสินเชื่อธุรกิจและกลุ่มธุรกิจบริหารเงินและตลาดทุน (Global Banking and Markets) และธุรกิจธนบดีธนกิจ (Global Private Banking) กลุ่มเอชเอสบีซีให้บริการลูกค้าทั่วโลกด้วยเครือข่ายสาขาใน 66 ประเทศและเขตปกครองทั้งในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เอชเอสบีซีเป็นสถาบันผู้ให้บริการด้านการเงินและการธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีสินทรัพย์รวม 2,659 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562) 
          ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี
          กว่า 150 ปีแล้วที่เอชเอสบีซีได้ดำเนินธุรกิจในประเทศที่มีศักยภาพและโอกาสเติบโต และเชื่อมโยงให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ ปัจจุบัน ธุรกิจพาณิชย์ธนกิจของธนาคารเอชเอสบีซี ให้บริการลูกค้าราว 1.5 ล้านคนใน 53 ตลาด ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กที่มุ่งเติบโตในประเทศเป็นหลักไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินกิจการข้ามประเทศ เอชเอสบีซีพร้อมมอบเครื่องมือทางการเงินและความชำนาญไม่ว่าจะเป็นเงินทุนหมุนเวียน เงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา สินเชื่อเพื่อการค้า หรือบริการจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่อง ซึ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตของธุรกิจ ทั้งนี้ จุดแข็งสำคัญที่สุดของกลุ่มเอชเอสบีซี นั่นคือ เราพร้อมช่วยเหลือลูกค้าให้เข้าถึงโอกาสทางธุรกิจผ่านเครือข่ายสาขาทั่วโลกที่ครอบคลุมเกือบร้อยละ 90 ของกระแสการค้าและเงินทุนของโลก ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hsbc.com/about-hsbc/structure-and-network/commercial-banking 
          ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เอชเอสบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย เปิดสำนักงานให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2431 ธนาคารเอชเอสบีซีเปิดให้บริการด้านการเงินและการธนาคาร ทั้งบริการด้านเงินฝาก สินเชื่อธุรกิจ พาณิชย์ธนกิจ ธุรกิจสถาบันการเงิน บริการด้านบริหารเงินและตลาดทุน บริการหลักทรัพย์ บริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ และบริการจัดการด้านการเงินและบริหารสภาพคล่องแก่ลูกค้าประเภทองค์กร
ผลวิจัยของธนาคารเอชเอสบีซีเผยว่าบริษัทในเอเชียยกเทคโนโลยี ความยั่งยืน และคนเป็นแรงขับสำคัญของการเติบโตในอนาคต
 
 
 

ข่าวธนาคารเอชเอสบีซี+ธนาคารเอชเอสบีวันนี้

ธนาคารเอชเอสบีซี จับมือ อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) มอบสินเชื่อสีเขียวมูลค่า 500 ล้านบาท สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ลงนามข้อตกลงกับบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อมอบสินเชื่อสีเขียวมูลค่า 500 ล้านบาท ในการใช้สนับสนุนโครงการนวัตกรรม "รีไซคามิน (Recyclamine)" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจดสิทธิบัตรที่สามารถทำให้วัสดุคอมโพสิตประเภทอีพ็อกซี่ซึ่งไม่สามารถรีไซเคิลได้ สามารถนำกลับมารีไซเคิล นำกลับมาใช้ใหม่ และนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้ง โดยรีไซคามินได้สร้างนิยามใหม่ของการใช้วัสดุเทอร์โมเซ็ตคอมโพสิตแห่งอนาคต และถือเป็นการปฏิวัติวงการครั้งสำคัญ นายจอร์โจ กัมบา ประธาน

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ได้รับการยกย่อ... ธนาคารเอชเอสบีซี ได้รับการโหวตเป็น ธนาคารเพื่อการค้าระหว่างประเทศยอดเยี่ยมของไทย — ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ได้รับการยกย่องให้เป็น "ธนาคารเพื่อการค้าระห...

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มอบเงินจำนวน 2... ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย บริจาค 2.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ — ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มอบเงินจำนวน 2.2 ล้านบาท แก่มูลนิ...

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย รู้สึกเป็นเกีย... ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย คว้ารางวัล Best Places to Work — ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัล Best Places to Work ซึ่งเป็นการรับ...

ธนาคารเอชเอสบีซี ออกบทวิเคราะห์จีดีพีประเ... เอชเอสบีซี เผยบทวิเคราะห์จีดีพีไทย ชี้การใช้จ่ายภาครัฐช่วยหนุนการเติบโตเศรษฐกิจ — ธนาคารเอชเอสบีซี ออกบทวิเคราะห์จีดีพีประเทศไทย ระบุจีดีพีไตรมาส 3 ปี 256...

Funding Societies ได้รับวงเงินสินเชื่อครั้งที่ 3 จาก HSBC เพื่อขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ MSME ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การอนุมัติสินเชื่อในครั้งนี้อยู่ภายใต้กองทุน "ASEAN Growth Fund" ของ HSBC ซึ่งเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 3.4 พันล้านบาท ตั้งแต่การเริ่มเป็นพันธมิตรกับ Funding Societies ...

นางอุทุมภรณ์ วีรานุวัตติ์ ผู้อำนวยการอาวุ... ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย มอบเงินสนับสนุนกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ — นางอุทุมภรณ์ วีรานุวัตติ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการดูแลและรับฝากหลักท...