ครม. เห็นชอบชง “เมืองโบราณศรีเทพ-กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด” เป็นมรดกโลก

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอ ๒ แหล่ง ได้แก่ ๑. เมืองโบราณศรีเทพ ภายใต้ชื่อ The Ancient Town of Si Thep ๒.กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด ภายใต้ชื่อ Ensemble of Phanom Rung, Muang Tam and Plai Bat Sanctuariesเนื่องจากตามอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กำหนดให้รัฐภาคีนำเสนอเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนบัญชีรายชื่อเบื้องต้นและจัดส่งเอกสารเสนอต่อศูนย์มรดกโลก ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ภายในกลางเดือนเมษายน ๒๕๖๒ ให้ทันต่อการเสนอคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ ๔๒ วันที่ ๓๐ มิ.ย.– ๑๐ ก.ค. ๒๕๖๒ ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ขั้นตอนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมทั้ง ๒ แหล่ง ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
          ทั้งนี้ เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นรอยต่อทางวัฒนธรรมสำคัญ ๒ แห่ง ได้แก่ "แอ่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก"และเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนกับ "แอ่งอารยธรรมอีสาน" เป็นจุดเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนสินค้าและเส้นทางการค้าพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณและอยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาแบบทวารวดีจากภาคกลางไทยและวัฒนธรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาแบบมหายาน จึงมีบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์แสดงออกถึงภูมิปัญญาความรู้และความเชี่ยวชาญฝีมือช่างที่พัฒนาขึ้นจนมีรูปแบบเฉพาะของตนเอง เรียกว่า "สกุลช่างศรีเทพ" 
          ดังนั้น สอดคล้องกับเกณฑ์ยูเนสโก ๒ เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่ ๒ เมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้ง อันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสานการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนสินค้าภายในและระหว่างภูมิภาคที่มีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมรโบราณ และเกณฑ์ที่ ๓ เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสำคัญโดดเด่นในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทยแสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาทมหายานและศาสนาฮินดูจนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง นอกจากนี้ได้ศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและโบราณสถานต่าง ๆ ได้แก่ ศาสนสถานมีเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนสถานในภาคกลางของเวียดนาม กลุ่มเมืองโบราณปยุ เมียนมา และแหล่งโบราณคดีสมโบร์ไพรกุก กัมพูชา
          ขณะที่ กลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด จ.บุรีรัมย์ มีโบราณสถาน ๓ แห่ง (๑) ปราสาทพนมรุ้ง เป็นปราสาทหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาใกล้กับปล่องของภูเขาไฟเก่าที่ดับแล้วในแนวเทือกเขาพนมดงรักอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะหนึ่งเดียวในโลก สร้างเพื่อเป็นเทวาลัยของพระศิวะลัทธิไศวนิกายเสมือนเป็นที่ประทับบนยอดเขาไกรลาศ และดึงประโยชน์จากชัยภูมิที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เข้ากับคติทางศาสนาด้วยภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมและดาราศาสตร์วางช่องประตูให้ตั้งตรงกันจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกรวม ๑๕ ช่องประตู เพื่อให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้นตรงช่องประตูส่องกระทบศิวลึงค์ที่ตั้งเป็นประธานอยู่ในห้องกลางของปราสาทจำนวน ๔ ครั้ง ใน ๑ ปี (๒) ปราสาทเมืองต่ำ เทวสถานลัทธิไศวะนิกาย ตั้งอยู่บนที่ราบห่างจากเขาพนมรุ้งมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว ๔ กิโลเมตร เป็นปราสาทที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านการวางผังที่สวยงาม สมดุลและมีลวดลายภาพสลักที่งดงามประณีต (๓) ปราสาทเขาปลายบัด ๑ และ ๒ อยู่บนเขาปลายบัด เป็นภูเขาไฟลูกโดดที่ดับแล้วเช่นเดียวกับเขาพนมรุ้ง มีฉนวนทางเดินทอดยาวมาทางทิศตะวันออกและมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เชิงเขาในลักษณะเดียวกับปราสาทพนมรุ้งและจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่า ตัวปราสาทปลายบัด ๑ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับปรางค์น้อยที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง
          ดังนั้น มีความโดดเด่นสอดคล้องกับเกณฑ์ของยูเนสโก ๓ เกณฑ์ ได้แก่ (๑) หลักเกณฑ์ข้อที่ ๓ เป็นประจักษ์พยานเพียงหนึ่งเดียวหรืออย่างน้อยมีลักษณะพิเศษของการสืบทอดทางวัฒนธรรมหรือของอารยธรรมที่ดำรงต่อเนื่องอยู่หรือที่สูญหายไปแล้ว (๒) หลักเกณฑ์ที่ ๔ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างกลุ่มสถาปัตยกรรมหรือกลุ่มเทคโนโลยีหรือลักษณะภูมิประเทศของภูมิทัศน์ซึ่งแสดงถึงช่วงเวลาที่สำคัญช่วงหนึ่งหรือหลายช่วงในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ (๓) หลักเกณฑ์ที่ ๕ เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การใช้พื้นที่ทั้งทางบกและทางทะเลซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมหรือปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งเหล่านั้นเสื่อมสลายได้ง่ายจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตามกาลเวลา
 
 

ข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม+กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติวันนี้

อ.อ.ป. ร่วมประชุมภาคีป่าไม้แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 20 (UNFF20)

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำโดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และผู้แทนจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการต่างประเทศ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึง นายประสิทธิ์ เกิดโต รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้

รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ปได้รับตราสัญลักษณ์... รอยัล คลิฟ พัทยา ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม กับการคว้ารางวัล G-Green ระดับดีเยี่ยม — รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ปได้รับตราสัญลักษณ์ G-Green โรงแรมที่เป...

นายประสิทธิ์ เกิดโต รักษาการแทนผู้อำนวยกา... อ.อ.ป. รับเกียรติบัตร "องค์กรพัฒนาคุณธรรม ประจำปี 2567" — นายประสิทธิ์ เกิดโต รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (รษก.ผอ.อ.อ.ป.) เป็นผู้แทนปลัด...