ม.ทักษิณ ยกย่อง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ ถนนแก้ว” บุคลากรตัวอย่างด้านการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีพุทธศักราช 2561

30 Aug 2019
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ ถนนแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมเกษตร ปีพุทธศักราช 2544 ระดับปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีอาหาร ปีพุทธศักราช 2549 จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มต้นเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งอาจารย์ ในปีพุทธศักราช 2548 และได้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนและการวิจัยกระทั่งสามารถสร้างสรรค์ นวัตกรรมความรู้สู่การบริการวิชาการแก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทกับกับการบริการวิชาการที่มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ ประสบการณ์จากการวิจัยสู่การบริการวิชาการแก่สังคมอย่างสร้างสรรค์ สามารถสร้างการมีส่วนร่วม การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ม.ทักษิณ ยกย่อง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ ถนนแก้ว” บุคลากรตัวอย่างด้านการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีพุทธศักราช 2561

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ ถนนแก้ว มีความสามารถอันโดดเด่นในการสร้างและสื่อสารถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยและนำองค์ความรู้ไปแก้ไขปัญหา พัฒนาสังคมบนฐานการใช้ความเชี่ยวชาญผสมผสานความรู้ที่เรียกว่า "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม" ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรผลิตภัณฑ์อาหารและเวชสำอาง การควบคุมคุณภาพและประกันคุณภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ มาตรฐานและความปลอดภัยไปบริการวิชาการแก่ชุมชน กลุ่มวิสาหกิจ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม (SME) ด้วยการให้คำปรึกษา การบรรยาย และการฝึกเชิงปฏิบัติ การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ ถนนแก้ว มีผลงานบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสอเนกประสงค์จากวัสดุเศษเหลือของกระบวนการผลิตปลาดุกร้า การแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตทางการเกษตร

การผลิตข้าวสังข์หยดแบบครบวงจรสู่ความยั่งยืน การพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าอย่างยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผงสำเร็จรูปจากข้าวสังข์หยดเพาะงอก ที่เสริมใยอาหารและสารช่วยระบายสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนาผลิตภัณฑ์แกงคั่วเห็ดแครงชนิดแห้ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซีเรียลบาร์เสริมใยอาหารจากรำข้าวสังข์หยด การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับทาขนมปังจากน้ำผึ้งโพรง การพัฒนาผลิตภัณฑ์แยมมัลเบอร์รี่แบบผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อสุขภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอสข้าวยำจากน้ำหมักปลาดุกร้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนจากข้าวไร่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนจากข้าวสังข์หยด และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากผึ้งโพรงและชันโรงเพื่อสร้างเสริมรายได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ ถนนแก้ว ประสบความสำเร็จในการให้บริการวิชาการ ที่สามารถเชื่อมโยงสู่การประกอบการเชิงพาณิชย์ และการท่องเที่ยวชุมชน ที่สำคัญคือ การแปรรูปปลาดุกร้าและโรงงานต้นแบบปลาดุกร้าที่สามารถผลิตได้จริงในระดับอุตสาหกรรม สามารถควบควบคุมภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน การร่วมผลักดันผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าขึ้นทะเบียน "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแห่งชาติ" การเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกปลาดุกร้า ผลิตภัณฑ์ผงชงพร้อมดื่มจากข้าวสังข์หยดเพาะงอก (GABA DRINK) น้ำมันรำข้าวสังข์หยดบีบเย็น (Oryzan) พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ที่สามารถสร้างงานและสร้างรายได้แก่ชุมชน นอกจากนี้ยังอุทิศตนให้กับการให้คำปรึกษา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี แก่ชุมชน ผู้ประกอบการ ประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละชุมชนท้องถิ่น เกิดผลลัพธ์ที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะสร้างงาน สร้างอาชีพและการประกอบการผ่านกลุ่ม องค์กร และเป็นสะพานเชื่อมสู่การการปฏิบัติการเพื่อการบริการวิชาการของหน่วยงานในหลายระดับ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กรมการข้าว สภาเกษตรกร และสำนักงานเกษตรจังหวัด ตลอดจนได้รวบรวมความรู้เผยแพร่เป็นวิทยาทานแก่ผู้สนใจทั่วไป การจัดทำคู่มือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยด คู่มือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้า คู่มือการแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วย คู่มือการแปรรูปผลิตภัณฑ์มังคุด คู่มือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผึ้ง และคู่มือการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ผลสำเร็จจากการวิจัย นวัตกรรมและการบริการวิชาการในเชิงพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (University Engagement) ตามปณิธาน "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม" แห่งมหาวิทยาลัยทักษิณ ทำให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ ถนนแก้ว ได้รับการยอมรับทั้งภายในและภายนอก (Popular Recognition) ดังสะท้อนจากการได้รับเลือกเป็น Thai Visiting Scholar Program (TVS) จากมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (Fullbright) จากผลงานบริการวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับข้าวสังข์หยด และรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ด้านผลงานดีเด่น จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อนึ่งผู้ได้รับรางวัลบุคลากรตัวอย่างด้านการบริการวิชาการ จะได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยทักษิณ ในวันที่ 27 กันยายน 2562 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง