ธุรกิจ Delivery ทางรอดเศรษฐกิจไทยในช่วง COVID-19

25 Mar 2020

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้ ภาครัฐต้องออกมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันและหยุดยั้งการระบาดของโรคดังกล่าว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น การปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง สถานประกอบการ และการปิดห้างสรรพสินค้า ยกเว้นโซน supermarket ร้านอาหารแบบ takeaway และร้านขายเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประชาชนจำนวนมาก

ธุรกิจ Delivery ทางรอดเศรษฐกิจไทยในช่วง COVID-19

โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานผู้ได้รับค่าจ้างรายวัน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs หากรัฐบาลไม่กำหนดมาตรการเพื่อรองรับ บรรเทา และแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเดินทางเคลื่อนย้ายของประชาชนกลับสู่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ซึ่งทำให้การควบคุมโรคเป็นไปด้วย ความยากลำบากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากภาครัฐ จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลแรงงานที่ตกงาน ประกอบกับธุรกิจ SMEs ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และจำเป็นต้องปิดตัวลง ทำให้รัฐบาลอาจขาดงบประมาณและกลไกสำคัญการฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย

ปัจจุบันธุรกิจ Delivery เป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความนิยมอย่างสูง และมียอดการใช้บริการ เพิ่มขึ้นอย่างมีต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากสาเหตุหลายประการ ทั้งจากประชาชน ที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ/สัมผัสกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักกันตัวเอง 14 วัน และประชาชนทั่วไป ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการออกจากที่พักอาศัย ดังนั้น รัฐบาลควรประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ให้บริการ Delivery เซเว่น CP All Grab Lineman Food Panda แ ละ Happy Fresh เพื่อนำธุรกิจ SMEs เข้าสู่ระบบ และพิจารณาความเป็นไปได้ในการนำกลุ่มแรงงานที่ขาดรายได้จากการปิดสถานที่ต่าง ๆ เข้ามาเป็นแรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งสินค้าและอาหารให้แก่ผู้บริโภค Keywords: Delivery / ผู้มีรายได้น้อย / ค่าแรงรายวัน / ธุรกิจ SMEs / ความร่วมมือภาครัฐ/เอกชน/ประชาชน/ COVID-19 / เพิ่มรายได้ / ลดการเดินทาง / ลดกักตุน / ลดความตระหนก

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนิน

    มาตรการเพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด COVID-19 ของภาครัฐ
  2. เพื่อลดความตื่นตระหนกของประชาชนในการกักตุนสินค้า และลดระยะเวลารอคอย

    ในการสั่งอาหารและสินค้าอุปโภค บริโภคผ่านบริการ delivery
  3. เพื่อลดการเดินทางกลับภูมิลำเนาของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอาจทำให้การควบคุมโรคยากยิ่งขึ้น
  4. เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19



รูปแบบ/แนวคิด

  1. ลดความตื่นตระหนกของคน ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เพิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับมาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐส่งผลให้เกิดประชาชนเกิดความตื่นตระหนก และเกิดความกังวลหลายประการ เช่น ความกังวลว่าจะขาดแคลนสินค้าอุปโภคและบริโภค ก่อให้เกิดการออกไปจับจ่ายเพื่อกักตุนสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภคเป็นจำนวนมาก หรือความกังวล จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เนื่องจากขาดรายได้และเดินทางกลับภูมิลำเนา ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องเร่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาความตื่นตระหนกของประชาชน รวมทั้งบรรเทาผลกระทบของแรงงาน และผู้ประกอบการ SMEs โดยเร็ว
  2. ใช้ธุรกิจ Delivery เชื่อม Supply Chain ปัจจุบันประชาชนจำนวนมากเลือกใช้บริการ delivery ในการจัดส่งอาหารและสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคเพื่อหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน โดยไม่จำเป็น จึงเป็นโอกาสในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งอาหารและสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนี้
    2.1 กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะร้านอาหาร ซึ่งได้ปรับตัวจากการจำหน่ายอาหารหน้าร้านเป็น takeaway แล้ว แต่ร้านยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือร้านยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ delivery ของบริษัทเอกชนก่อนหน้านี้
    2.2 ผู้ประกอบการ Delivery ซึ่งต้องการพนักงานในส่วนของการจัดการสินค้าและการ จัดส่งเป็นจำนวนมากเพื่อคงระดับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการผู้บริโภค เช่น บริษัท CP All ได้ประกาศประกาศรับสมัครพนักงานเดลิเวอรี่ 20,000 รายทั่วประเทศ ส่งของในช่วงวิกฤต COVID-19 เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า
    2.3 กลุ่มแรงงานซึ่งขาดรายได้ แรงงานส่วนนี้มีทักษะพื้นฐานที่เพียงพอต่อการสนับสนุนการให้บริการ delivery เช่น การประกอบอาหาร การจัดเรียงสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคการขนส่งอาหารและสินค้า และการดำเนินการสนับสนุนต่าง ๆ เช่น การรับโทรศัพท์ (Call Center) และงานเอกสาร
  3. ภาครัฐให้การสนับสนุนทางนโยบายและเติมเต็มส่วนที่ขาด รัฐบาลและหน่วยงาน ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวโดยเป็นแกนนำในการประสานงานเพื่อขอความร่วมมือกับภาคเอกชน จัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับ ดูแล และขับเคลื่อนการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้การสนับสนุนสถานที่ อุปกรณ์ หรืองบประมาณในที่กรณีจำเป็น



ธุรกิจ Delivery ทางรอดเศรษฐกิจไทยในช่วง COVID-19