กองบัญชาการป้องกันฯ สั่งการจังหวัดบูรณาการเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันและแก้ไขปัญหาพายุฤดูร้อนอย่างเต็มกำลัง

03 Mar 2020

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) สั่งการทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์พายุฤดูร้อน โดยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว หากเกิดวาตภัยให้เร่งสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยได้สู่ฤดูร้อนตั้งแต่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 โดยบริเวณประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกือบทั่วไปและมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ในขณะที่ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนได้เปลี่ยนจากลมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทนที่ อาจส่งผลให้เกิดพายุฤดูร้อน โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม - เมษายน 2563 อาจเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นบ่อยครั้ง โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์พายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินการ ดังนี้ การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ โดยตั้งคณะทำงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานหน่วยปฏิบัติเตรียมพร้อมรับมือและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็วการตรวจสอบสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง รวมถึงให้ความรู้แก่ประชาชนถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยและแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยของภาครัฐ ตลอดจนจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วการเตรียมพร้อมเผชิญเหตุหากเกิดวาตภัยที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ให้เร่งสำรวจความเสียหาย และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งมอบภารกิจ พื้นที่ปฏิบัติงาน และผู้รับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน พร้อมบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่จัดทีมช่างประชารัฐดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหายอย่างเร่งด่วน สำหรับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหาย ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขซ่อมแซมให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป