มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยจัดงาน Lung For(r)est เผยแพร่ความรู้โรคมะเร็งปอด ผลักดันโครงการทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งปอดเพื่อพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งปอดสำหรับคนไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          ลมหายใจ เป็นสิ่งที่อยู่กับเราทุกวันนับตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาบนโลก แต่หลายครั้งเรากลับไม่เคยสังเกตเลยว่าลมหายใจของเราเป็นอย่างไร ยังหายใจได้สะดวกดีไหม มันสะอาดหรือเปล่า มีอะไรเข้าไปปอดของเราบ้าง หรือแม้กระทั่งมันจะถูกพรากไปในวันไหน
          โรคมะเร็งปอดเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่พรากลมหายใจไปจากคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับสอง ด้วยเหตุนี้ มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย จึงได้จัดงาน Lung For(r)est ขึ้น เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอันตรายโรคมะเร็งปอด รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการรักษาในปัจจุบันที่มีการพัฒนาจนมีประสิทธิภาพ ช่วยยืดอายุผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
          สาเหตุที่มะเร็งปอดเป็นภัยเงียบที่อันตราย เป็นเพราะโรคจะไม่แสดงอาการจนกว่าจะเป็นหนักในระดับหนึ่ง อีกทั้งอาการทั่วไปยังคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ เช่น ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด หรือการทำงานของระบบทางเดินหายใจบกพร่อง ทำให้ยากในการสังเกตอาการ หรือแม้กระทั่งการวินิจฉัย
          ในเรื่องนี้ รองศาตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ ที่ปรึกษามะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย อธิบายว่า "ปัจจัยหลักๆ ของโรคมะเร็งปอดมี 2 ประเภท คือ ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น อายุ พันธุกรรม หรือการกลายพันธุ์ของยีนส์ และปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ คือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสูบหรือสูดดมควันบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่น หรือควันจากท่อไอเสีย จากข้อมูลของเราในปัจจุบัน กลุ่มคนที่สูบบุหรี่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนไข้ที่ไม่สูบบุหรี่เป็นมะเร็งปอดมากขึ้น เช่น ในกรุงเทพมหานคร มีคนไข้ที่ไม่สูบบุหรี่มากถึง 50-60% โดยยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด"
          อรสิรี ตั้งสัจจธรรม ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในงาน Lung For(r)est ก็เป็นหนึ่งในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นกัน คุณอรสิรีเล่าถึงอาการป่วยว่า "อาการแรกคือไอแห้งๆ ทั้งที่ไม่ได้เป็นหวัดหรือภูมิแพ้ ไปหาหมอก็ได้ยาแก้ภูมิแพ้กลับมา ปรากฏว่าผ่านไป 2-3 เดือน เริ่มไอแบบมีเสียงก้องๆ อยู่ข้างใน แต่ไม่มีเสมหะ ไม่มีเลือด จึงขอพบหมอเฉพาะทางด้านปอด ผลเอ็กซ์เรย์ออกมาว่าเริ่มมีน้ำในปอดและมีฝ้าขาวในปอดทั้งสองข้าง ตอนแรกคุณหมอคิดว่าน่าจะเป็นวัณโรค เพราะไม่มีประวัติสูบบุหรี่ ไม่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง แต่พอเจาะน้ำในปอดออกมาเพื่อหาเชื้อให้แน่นอน ปรากฏว่ามันเป็นสีเลือด ไม่ใช่สีใส ๆ แบบวัณโรค คุณหมอจึงสงสัยว่าเป็นมะเร็งซึ่งตอนที่ตรวจพบก็เป็นระยะที่ 4 แล้ว" คุณอรสิรียังเล่าอีกว่า "เมื่อตรวจพบว่าสาเหตุของการป่วยคือยีนส์กลายพันธุ์ แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยา Targeted Therapy หรือยารักษาแบบมุ่งเป้าซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาแบบใหม่" 
          ปัจจุบัน โรคมะเร็งสามารถรักษาโดยหลักๆ ได้ 3 วิธี คือ ผ่าตัด รังสีรักษา และการใช้ยา ซึ่งทั้ง 3 วิธีก็มีการพัฒนาจนมีนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย โดยเฉพาะการรักษาโดยการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพดีกว่ายารุ่นเก่าและผลข้างเคียงน้อย โดยยารักษาโรคมะเร็งมีอยู่ 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยาจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายว่า "การพัฒนาของยาในปัจจุบันช่วยให้ผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยลงและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น เช่น ตอนนี้มียาคีโมกลุ่มใหม่ๆ ที่ไม่ทำให้ผมร่วง กดการทำงานของเม็ดเลือดขาวน้อย คลื่นไส้อาเจียนน้อยมาก หรือยาออกฤทธิ์เฉพาะจุดหรือที่เรียกว่ายามุ่งเป้า ซึ่งส่งผลดีกับผู้ป่วยกลุ่มยีนส์กลายพันธุ์ เพราะสามารถโฟกัสการรักษาได้เฉพาะจุด ผลข้างเคียงจึงน้อยกว่าการรักษาด้วยคีโม เช่น ผมไม่ร่วง ไม่กดการทำงานของเม็ดเลือดขาวหรือภูมิคุ้มกัน ไม่มีการคลื่นไส้อาเจียน นอกจากนี้ ยังมีวิธีที่เรียกว่าภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy ซึ่งใช้ได้ผลค่อนข้างดีกับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดชนิดทั่วไป เป็นการรักษาโดยใช้ยาไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ไปทำลายเซลล์มะเร็ง พูดอีกอย่างได้ว่าเป็นการนำสิ่งที่อยู่ในร่างกายของเรามาต่อสู้กับโรค โดยอาจมีผลข้างเคียงเป็นการอักเสบของอวัยวะต่างๆ แต่พบได้ไม่บ่อย อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งนั้นแตกต่างไปในแต่ละบุคคล ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องค้นหาวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันเรามีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ" 
          ไม่เพียงผู้ป่วยที่จำเป็นต้องค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะกับตนเอง แพทย์ผู้รักษาก็ต้องหาวิธีที่เหมาะสมกับคนไข้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาของโครงการทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งปอดของมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการเก็บฐานข้อมูลผู้ป่วยเพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาและวิจัยต่อยอดในการค้นหาแนวทางรักษาโรคมะเร็งปอดที่เหมาะสมกับคนไทย เพราะเชื้อชาติเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการรักษา และในปัจจุบันข้อมูลทางการแพทย์ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากต่างประเทศ ข้อมูลที่ได้จากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการใช้ทรัพยากรในการควบคุมมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการวางนโยบายในอนาคตเกี่ยวกับการเข้าถึงการรักษาของคนไทยที่ถึงแม้ในปัจจุบันสิทธิ์ในการรักษาจะครอบคลุมการรักษาขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วน แต่ยาบางกลุ่ม เช่น ยามุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยังจำกัดสิทธิ์การรักษาในเพียงบางกลุ่มเท่านั้น 
          เกรท – วรินทร ปัญหกาญจน์ นักแสดงหนุ่มที่เข้าร่วมพูดคุยในงาน Lung For(r)est พร้อมทั้งนำของส่วนตัวมาประมูลในงานเพื่อสมทบทุนให้กับโครงการทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งปอดกล่าวถึงการค้นพบวิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดแนวทางใหม่ว่า "การที่ได้มาพูดคุยในงานวันนี้ทำให้รู้ว่าปัจจุบันมีแนวทางใหม่ๆ ในการรักษาที่เป็นความหวังให้กับผู้ป่วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ ผู้ป่วยมีตัวเลือกในการรักษา มีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้นได้ นอกจากนี้ วันนี้ยังได้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดที่จริง ๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก อย่างควันบุหรี่ หรือฝุ่นต่าง ๆ PM2.5 และมลภาวะที่เราต้องเจออยู่ทุกวันก็เป็นปัจจัยเสี่ยงได้ พอมีความรู้ตรงนี้ เราก็รู้วิธีป้องกันตัวมากขึ้น"

          หากย้อนไปเมื่อสิบปีก่อน ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่สามารถมีอายุอยู่เกินหนึ่งปีมีจำนวนน้อยมาก แต่ปัจจุบันผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาใหม่ๆ เช่น ยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถมีอายุต่อได้ถึง 3-5 ปี นวัตกรรมการรักษาแบบใหม่และความรู้ที่จะได้จากโครงการทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งปอดจึงเป็นความหวังที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดสามารถมีชีวิตเพื่อใช้ลมหายใจต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ
มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยจัดงาน Lung For(r)est เผยแพร่ความรู้โรคมะเร็งปอด ผลักดันโครงการทะเบียนผู้ป่วยมะเร็งปอดเพื่อพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งปอดสำหรับคนไทย
 
 

ข่าวมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย+มะเร็งวิทยาสมาคมวันนี้

“อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์” (Art for Cance)r เปิดตัวโครงการ “ก้าวข้ามมะเร็ง” ส่งต่อ “ยากำลังใจ” สู่ผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วประเทศไทย พร้อม “แบงค์ – นิหน่า – อีฟ” ผู้มีประสบการณ์ตรง

เนื่องในวันมะเร็งโลก โครงการเพื่อสังคม อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล (Art for Cancer by Ireal) ร่วมกับบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด, กรมการแพทย์, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, สถานวิทยามะเร็งศิริราช และมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการ "ก้าวข้ามมะเร็ง" เพื่อส่งต่อ "ยากำลังใจ" สู่ผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วประเทศไทย "ยากำลังใจ" เป็นสื่อให้ความรู้เชิงสร้างสรรค์ ที่มาพร้อมกับคิวอาร์ โค้ด (QR Code) ผ่านทัศนคติเชิงบวกในการรับมือกับโรคมะเร็ง และการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคร้ายแรงนี้ อีกทั้งยัง

บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้บริจา... ไฟเซอร์บริจาคยามะเร็งเต้านมให้มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย — บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้บริจาคยารักษาโรคมะเร็งเต้านมแบบพุ่งเป้าให้กับมะเร็งวิทย...

บัญชีกลางแจงการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและค่าโลหิตวิทยา

กรมบัญชีกลางชี้แจงการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและค่าโลหิตวิทยา นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงสิทธิการเบิกจ่ายค่ายารักษามะ...

ไฟเซอร์ ประเทศไทย แนะนำ ยายับยั้งการทำงาน... ภาพข่าว: ไฟเซอร์ ประเทศไทย แนะนำ ยายับยั้งการทำงานของโปรตีนซีดีเค4/6 — ไฟเซอร์ ประเทศไทย แนะนำ ยายับยั้งการทำงานของโปรตีนซีดีเค4/6 ที่ได้รับการรับรองจาก อ...

มะเร็งยังคงเป็นโรคคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดั... ส่องกล้องทางเดินอาหารฯ ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ อีกหนึ่งมิติใหม่แห่งการให้ของรพ.จุฬา — มะเร็งยังคงเป็นโรคคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 1 มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้...