สอศ.จับมือ 3 สถาบันชนนำ ร่วมพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับศตวรรษที่ 21

29 Jan 2020
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองรับศตวรรษที่ 21 ณ ห้องประชุม 1 สอศ.
สอศ.จับมือ 3 สถาบันชนนำ ร่วมพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  รองรับศตวรรษที่ 21

ดร.พีระพล พูลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สอศ. และกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกันจัดตั้ง "วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์" มีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น เชิงเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมา สอศ. ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก 9 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในการพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ด้วยการนำรูปแบบการสอนที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผนวกกับการสร้างทักษะทางวิชาชีพ อาทิ การสอนแบบ Project based Learning, Active Learning และ STEM Education ซึ่งในปีนี้ สอศ.มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากอีก 3สถาบันการศึกษาชั้นนำ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร การถ่ายทอดความรู้ การให้คำปรึกษาในการพัฒนานวัตกรรม และการใช้ทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสถานศึกษาสังกัดสอศ.ที่ดำเนินโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ มีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน วิทยาลัยเทคนิคพังงา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี

"ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ความสำคัญกับการเตรียมกำลังคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ และนำพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน" รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวทิ้งท้าย

รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นหนึ่งภารกิจในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์สถาบันให้เป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน นักศึกษาและการศึกษาไทย เพื่อตอบสนองแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการผลิต พัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา แผนการศึกษาแห่งชาติ ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งในการสร้างเยาวชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้นในการดำรงชีวิต