ครั้งแรกของไทย...หุ่นยนต์ “เอไอ-อิมมูไนเซอร์ ” ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะ หนุนการพัฒนาวัคซีนเร็วขึ้นและปลอดภัย

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

ในสถานะการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกและประเทศไทยยังคงฝากความหวังไว้กับการเร่งพัฒนาวัคซีนนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คิดค้นนวัตกรรม “หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer)” ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะในการพัฒนาวัคซีน ครั้งแรกของไทย เพื่อเร่งสนับสนุนและยกระดับการพัฒนาวัคซีนของไทยสู่ระดับโลก โดยผสานเทคโนโลยี เอไอ ทั้งระบบจนจบครบวงจร ช่วยผลักดันการพัฒนาวัคซีนของศูนย์วิจัยวัคซีนที่มีกว่า 50 แห่งในประเทศไทย สู่เป้าหมายความสำเร็จได้เร็วขึ้นและปลอดภัย

ครั้งแรกของไทย...หุ่นยนต์ “เอไอ-อิมมูไนเซอร์ ” ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะ หนุนการพัฒนาวัคซีนเร็วขึ้นและปลอดภัย

ผศ.ดร.จำรัส พร้อมมาศ ที่ปรึกษาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัคซีนในยุคนิวนอร์มมอลต้องใช้เวลาให้สั้น ยิ่งคิดค้นได้เร็ว ก็จะยิ่งปลอดภัยในชีวิตและลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้เร็ว หากย้อนไปในประวัติศาสตร์การพัฒนาวัคซีนกว่า 224 ปี หลังจากการค้นพบวัคซีนแรกที่ป้องกันโรคฝีดาษ ใน ปีค.ศ.1796,   กรอบเวลาที่เร็วที่สุดที่เคยมีมาอยู่ที่ 4 ปี ซึ่งเป็นวัคซีนรักษาโรคคางทูมที่ทำสำเร็จในปี ค.ศ. 1967 แต่ส่วนใหญ่แล้วการวิจัยพัฒนาวัคซีนใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 10 -15 ปี,  สำหรับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้นผู้เชี่ยวชาญในนานาประเทศคาดการณ์กันว่า มนุษย์เราจะสามารถพัฒนาวัคซีน COVID-19 ตัวแรกได้สำเร็จภายใน 12-18 เดือน นับจากที่ทางการจีนเผยข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัสออกมา ซึ่งถือเป็นการร่นเวลาพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเร็วที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา  ดังนั้นหากมีนวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์เอไอ-อิมมูไนเซอร์ มาทำงานทดแทนมนุษย์ก็ทำให้การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคต่างๆสู่เป้าหมายเป็นจริงได้เร็วขึ้น

ความสำเร็จของความร่วมมือสร้างนวัตกรรม หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer) ครั้งนี้ จากการผนึกกำลังของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ทีมนักวิจัยได้ร่วมกันศึกษาวิจัย ออกแบบและวิเคราะห์พัฒนาระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะทดสอบระดับภูมิคุ้มกันในการลบล้างฤทธิ์ของเชื้อไวรัส (Neutralization Test) เป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้ คือ ยกระดับขั้นตอนการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนของไทยด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเอไอ โดยนำกระบวนงานเข้าสู่ Digital Platform ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับระบบสาธารณสุขของประเทศไทยโดยหุ่นยนต์สามารถทำงานอย่างอัตโนมัติได้ 24 ชม. และตามตารางเวลาที่กำหนด, ในอนาคตยังช่วยกระตุ้นให้เกิดสตาร์ทอัพ พัฒนาเฮลท์แคร์และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งลดการนำเข้าได้ปีละมหาศาล

ศ. ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์  ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล และรักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีนถือเป็นห้องปฏิบัติการที่สำคัญยิ่งต่อชีวิตประชาชนและมวลมนุษย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคร้ายแรง ดังเช่น วิกฤติการณ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ซึ่งขณะนี้นักวิจัยนานาประเทศกำลังเร่งคิดค้นพัฒนาวัคซีน รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยนักวิจัยด้านวัคซีนจะต้องทำงานตอบสนองให้ทันต่อความต้องการใช้งาน และยังต้องคำนึงถึงพันธุกรรมของไวรัสชนิดนี้ที่มีความหลากหลาย ทั้งนี้ต้องใช้บุคลากรที่ผ่านการประเมินความสามารถ ผ่านการฝึกฝนและประสบการณ์ที่ยาวนาน ซึ่งการทำงานแข่งกับเวลาเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้าและคลาดเคลื่อนได้ การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี “หุ่นยนต์เอไอ- อิมมูไนเซอร์” เป็นอีกก้าวสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาวัคซีนของประเทศไทยในวิถีใหม่ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกับทุกคน

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า นวัตกรรม “หุ่นยนต์เอไอ - อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer) เป็น หุ่นยนต์ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพสูง ชนิด 6 แกนและมี 2 แขน สามารถปฏิบัติการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันในการลบล้างฤทธิ์ของไวรัส ที่เรียกว่า Neutralization Test ทดแทนมนุษย์ได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การนำเพลทเลี้ยงเซลล์ที่บรรจุเซลล์เพาะเลี้ยงเข้าระบบ, ช่วยระบบติดฉลากบนเพลท, ปฏิบัติการเจือจาง (Dilute) ซีรั่มตัวอย่างที่มีแอนติบอดี(Antibody) ในหลอดทดลองด้วยตัวทำละลายในปริมาณตามต้องการ, นำซีรั่มที่เจือจางแล้วตามกำหนดผสมกับตัวอย่างไวรัส, ดูดน้ำเลี้ยงเซลล์, นำตัวอย่างที่ผสมเข้าสู่เซลล์เพาะเลี้ยงแล้ววางบนเครื่องเขย่า, เติมอาหารเลี้ยงเซลล์ลักษณะกึ่งแข็ง, บ่มในอุณหภูมิและระยะเวลาที่กำหนด, เทอาหารเลี้ยงเซลล์ทิ้งและฆ่าเชื้อ, ถ่ายภาพและประมวลผลโดยการอ่านจำนวนไวรัสพลาค (plaque) ที่ปรากฏขึ้น และวิเคราะห์ผลทั้งระบบด้วย AI ทั้งนี้ทำให้สามารถทดแทนการทำงานของมนุษย์ ลดความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ลดข้อผิดพลาด และความซ้ำซ้อน โดยทีมวิจัยได้ออกแบบให้เป็นระบบปิดในการปฏิบัติการด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ (Aseptic Condition) ซึ่งปลอดภัยต่อการใช้งาน และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร.นริศ หนูหอม รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ กล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อช่วยอ่านผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน ในกระบวนการวิจัยวัคซีนจำเป็นต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยการนำตัวอย่างซีรั่มของสัตว์ทดลองหรืออาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนที่ทดสอบมาตรวจหาปริมาณแอนติบอดี (Antibody) จำเพาะ ซึ่งภูมิคุ้มกันที่กระตุ้นขึ้นจะสามารถลบล้างฤทธิ์ของไวรัสได้ โดยวิเคราะห์ผลจากปริมาณไวรัสพลาค (Plaque)  ที่ลดลง

โดยปัญญาประดิษฐ์ที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นมีความสามารถในการตรวจนับจำนวนและขนาดพลาคของไวรัสบนเพลทเพาะเชื้อ มีคุณสมบัติพิเศษ คือ 1) สามารถวิเคราะห์ภาพถ่ายเพลทเพาะเชิ้อตรวจนับจำนวนและขนาดพลาคที่ปรากฏขึ้นบนเพลท ได้คราวละมาก ๆ ในเวลาอันสั้น ลดการใช้บุคลากรในการอ่านผล 2) รายงานผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันได้รวดเร็ว ตอบรับกับสถานการณ์การระบาดของโรค 3) สามารถทำการประมวลผลข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องต่ออินเตอร์เน็ต เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฐานข้อมูลด้านไวรัสและภูมิคุ้มกันของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สามารถเป็นกำลังสำคัญให้เกิดการพัฒนาต่อยอด และช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการพัฒนาวัคซีนให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลและประเทศไทยได้

ดร.พร้อมสิน มาศรีนวล  หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “นวัตกรรมหุ่นยนต์ เอไอ- อิมมูไนเซอร์ (AI-Immunizer)” นี้ ส่งผลดีต่อการเสริมศักยภาพการพัฒนาวัคซีนไทยอย่างยิ่ง ได้แก่ นำระบบทดสอบมาใช้งานจริง ในการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน ภายใต้มาตรฐานการทดสอบคุณภาพ (Quality control) โดยมีระบบทวนสอบย้อนกลับ (Traceability) ด้วยข้อมูลดิจิทัล และ ระบบภาพ Machine Vision นอกจากนั้น นวัตกรรมนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และลดขั้นตอนในการทำงานของบุคลากร ส่วนซอฟท์แวร์ AI สำหรับการประมวลภาพผลการทดสอบระดับภูมิคุ้มกัน สามารถนำมาใช้งานและเกิดการต่อยอดพัฒนาวัคซีนของไทยให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดภาระของการอ่านผลทดสอบโดยคน รวมถึงแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ รองรับการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ และช่วยยกระดับเทคโนโลยีด้านวัคซีนของประเทศไทย


ข่าวสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล+คณะวิศวกรรมศาสตร์วันนี้

งานสัมมนา Mahidol Sustainable and Modern Energy for All "Solar Cell"

ศูนย์ร่วมคิดพาณิชย์นวัตกรรม (MICC) โดยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ม.มหิดล ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจ เข้าร่วมงานสัมมนา Mahidol Sustainable and Modern Energy for All "Solar Cell" วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2566 (เวลา 09.00-12.00 น.)ณ MaSHARES Co-Working Space สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลหรือทาง FB LIVE ของสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม Highlight Topic - นโยบายภาครัฐกับโซลาเซลล์- การพัฒนาเรือพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการท่องเที่ยวตามแนวปะการัง- นวัตกรรม 'เพอรอฟสไกต์'

สมรภูมิแห่งการควบคุมโรคธาลัสซีเมีย โดยเฉพ... ม.มหิดลร่วมแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีไทย-จีน เพื่อควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมีย — สมรภูมิแห่งการควบคุมโรคธาลัสซีเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย ไม่เคยห่างหาย...

โปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ การศ... ม.มหิดลเสริมทักษะคิดเชิงวิเคราะห์ขั้นสูงให้นศ.ทดลองออกแบบและผลิตวัคซีน — โปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ การศึกษาเกี่ยวกับโปรตีน (Proteomics) มีความส...

เมื่อโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นถือเป็นความท... ม.มหิดล เร่งสร้างขุมพลังยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ — เมื่อโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและงา...

กว่าจะคิดค้นและผลิตยารักษาโรคแต่ละชนิดต้อ... ม.มหิดล ย่อโลกการแพทย์แม่นยำสร้างสรรค์ AI ช่วยออกแบบยา "MANORAA" — กว่าจะคิดค้นและผลิตยารักษาโรคแต่ละชนิดต้องใช้เวลากว่าหนึ่งทศวรรษ และต้องอาศัยการลงทุนด้...

ความหายนะทางเศรษฐกิจจากการที่เกษตรกรฟาร์ม... ม.มหิดล - ไบโอเทค ค้นพบ "โพรไบโอติกส์ต้านโรคสัตว์น้ำ" จากการวิจัยในระดับ "ยีน" ครั้งแรก — ความหายนะทางเศรษฐกิจจากการที่เกษตรกรฟาร์มกุ้งไทยส่วนใหญ่ต้องประส...