แพทย์จุฬาฯ แนะลดเค็ม ลดโรค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพ

27 Apr 2020

ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากหลงใหลอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็ม เช่น ขนมกรุปกรอบที่มากับรสชาติแปลกใหม่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลากรส น้ำซุปและน้ำจิ้มเข้มข้นในเมนูชาบูและหมูกระทะ พฤติกรรมการบริโภคอาหารรสเค็มในชีวิตประจำวันจะส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา

แพทย์จุฬาฯ แนะลดเค็ม ลดโรค  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพ

รสเค็มในอาหารมาจากเกลือ หรือที่เรียกว่า “โซเดียม”  ซึ่งเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต ในหนึ่งวัน ร่างกายของคนเราต้องการโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับน้ำปลา 2 ช้อนชา เกลือ 1 ช้อนชาเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมเกินความจำเป็นต่อร่างกายถึง 2 เท่า  

รศ.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “โซเดียมมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มการบริโภคโซเดียมมากเกินไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมาจากความชอบกินอาหารเค็ม  หรือจากความไม่รู้ว่าอาหารประเภทนั้นๆ มีโซเดียมแฝงอยู่ การกินเค็มมากเกินไปเป็นระยะเวลานานส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่กรองของเสียและน้ำออกนอกร่างกาย ดังนั้นเมื่อมีโซเดียมในร่างกายสูง ไตก็จะทำงานหนัก และเสื่อมเร็วขึ้น จากสถิติที่ผ่านมาคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังถึง 17.5% หรือประมาณ 8 ล้านคนต่อประชากรของประเทศ และประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยฟอกไตสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่งผลให้ต้องสูญเสียเงินไปกับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตระยะสุดท้ายประมาณ 8.5 พันล้านบาทต่อปี

“ขอให้เราตระหนักถึงโทษในการบริโภคโซเดียมที่เกินความจำเป็นอยู่เสมอ หากไม่อยากป่วยด้วยโรคที่มากับความเค็ม สิ่งที่ดีที่สุดคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมติดเค็มของเรา”  รศ.นพ.ณัฐชัย กล่าวแนะนำ

การทานเค็มก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ดังนี้

  1. ความดันโลหิตสูงขึ้น
  2. การดำเนินของโรคไตเรื้อรังเร็วมากขึ้น
  3. โรคหัวใจ
  4. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง  

วิธีเลี่ยงโซเดียมเกินจำเป็น

  1. ปรุงอาหารกินเองที่บ้าน
  2. หลีกเลี่ยงการกินน้ำซุป หรือกินน้อยลง เพราะน้ำซุปมีปริมาณโซเดียมสูงมากจากเครื่องปรุงรสหรือซุปก้อน
  3. หลีกเลียงการกินอาหารรสจัดด้วยการหันมากินอาหารรสจืดแทน
  4. ชิมก่อนปรุง และไม่เพิ่มรสชาติอาหารด้วยการเติมเครื่องปรุงรสทุกอย่าง รวมถึงน้ำจิ้ม หรือซอสต่างๆ
  5. ลดการกินอาหารแปรรูป เพราะในอาหารประเภทนี้มีปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้นหลายเท่าเพื่อยืดอายุในการเก็บรักษาอาหาร
  6. อ่านสลากโภชนาการทุกครั้ง เพื่อดูปริมาณโซเดียมของอาหารในแต่ละประเภท

แพทย์จุฬาฯ แนะลดเค็ม ลดโรค  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อสุขภาพ