“หัวเว่ย” เผยแพร่สมุดปกขาว POLAN มุ่งผลักดันการพลิกโฉมเครือข่ายแคมปัสขององค์กร

29 Sep 2020

หัวเว่ย (Huawei) มอบหมายให้ไอดีซี (IDC) จัดทำสมุดปกขาวหัวข้อ “IT Decision-maker Insights: POLAN as an Enabler of Enterprise Campus Transformation” และเผยแพร่ในงาน HUAWEI CONNECT 2020 ซึ่งสมุดปกขาวดังกล่าวระบุว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีกำลังทบทวนกลยุทธ์เครือข่ายแคมปัส เนื่องจากการเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกำลังสะดุดเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับโซลูชันทั่วไปแล้ว โซลูชัน Passive Optical LAN (POLAN) มีข้อได้เปรียบในแง่ของแบนด์วิดท์ การดำเนินงานและการบำรุงรักษา (O&M) การใช้พลังงาน และต้นทุนในการเป็นเจ้าของ (TCO) โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า โซลูชัน POLAN จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และจะกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงในการปรับปรุงบริการขององค์กร

ข้อมูลในสมุดปกขาวมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีในองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ 318 แห่งในหลายประเทศผ่านทางเว็บไซต์ ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งการศึกษา ภาครัฐ การดูแลสุขภาพ การขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์ โดยหัวเว่ยเป็นผู้มอบหมายให้ทำการสำรวจ ขณะที่ไอดีซีเป็นผู้ออกแบบ ดำเนินการ และวิเคราะห์ โดยสมุดปกขาวได้ให้ข้อมูลอ้างอิงอย่างละเอียดและให้คำแนะนำในการสร้างเครือข่ายแคมปัสขององค์กรในยุคดิจิทัล

สมุดปกขาวระบุว่า โซลูชันเครือข่ายแคมปัสที่องค์กรต้องการจะต้องมีสถาปัตยกรรมเครือข่ายที่ไม่ซับซ้อน การจัดการที่เรียบง่าย ต้นทุนต่ำ และมีความยืดหยุ่นในการขยายขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต

นอกจากนี้ สมุดปกขาวยังระบุเหตุผล 5 ประการที่โซลูชัน POLAN จะกลายเป็นโซลูชันเครือข่ายแคมปัสหลักท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดังนี้

- รองรับความต้องการแบนด์วิดท์ในอนาคต

ในอนาคตอันใกล้นี้ วิดีโอความละเอียดสูง (HD) และแอปพลิเคชั่น IoT จะเติบโตแบบเท่าทวีคูณ ทำให้ความต้องการแบนด์วิดท์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สายไฟเบอร์ออปติกมีแบนด์วิดท์และความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลสูงกว่าสายทองแดง และรองรับการอัปเกรดแบนด์วิดท์อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเดินสายใหม่ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ Dubai Creek Harbour ได้นำโซลูชัน POLAN ไปใช้ให้บริการวิดีโอ และ IoT ในโรงแรมด้วยเทคโนโลยี 10G PON ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของโรงแรมได้ตลอด 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ เทคโนโลยีและแบนด์วิดท์ยังสามารถอัปเกรดได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนสื่อกลางในการส่งผ่านข้อมูล จึงช่วยปกป้องการลงทุนของลูกค้า

- มอบประสบการณ์เครือข่ายระดับพรีเมียม

สายไฟเบอร์มีความหน่วงต่ำ ความน่าเชื่อถือสูง และป้องกันสัญญาณรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้าได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับสายทองแดงแบบเดิม สายไฟเบอร์จึงสามารถรองรับการใช้งานเครือข่ายแคมปัสรูปแบบใหม่ ทั้งการประชุมผ่านวิดีโอ การตรวจตราความปลอดภัย การโต้ตอบแบบ AR/VR และ IoT ยกตัวอย่างเช่น แบงก์ชาติแห่งหนึ่งได้นำโซลูชัน POLAN ไปใช้ในอาคารสำนักงาน เพื่อปรับปรุงเครือข่ายสำนักงานและบริการทั้งหมดให้ทันสมัย ครอบคลุมสำนักงานแบบมีสาย การโทรไร้สายผ่านระบบดิจิทัล แอคเซสพอยต์ไร้สาย และอุปกรณ์ IoT

- ยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานและการบำรุงรักษาเครือข่ายสูงสุด 60%

เมื่อเทียบกับโซลูชันเครือข่ายแคมปัสทั่วไป โซลูชัน POLAN มีสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนน้อยกว่า โดยมีเพียง OLT เท่านั้นที่ต้องการการดูแล ทั้งยังรองรับระบบปลั๊กแอนด์เพลย์ และสามารถเปลี่ยนเทอร์มินอลที่เสียได้โดยตรง ซึ่งช่วยลดภาระงาน O&M ได้อย่างมหาศาล นอกจากนั้นยังมีการนำสปลิตเตอร์แบบพาสซีฟมาใช้แทนอุปกรณ์แบบแอคทีฟจำนวนมาก ซึ่งช่วยลดโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาด ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยฟูตันได้นำโซลูชัน POLAN ไปใช้สร้างแคมปัสอัจฉริยะด้วยสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายและใช้สายน้อยลงมาก โดยโซลูชันนี้ช่วยให้การค้นหาข้อผิดพลาดและการขยายความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยลดต้นทุน O&M ด้วย

- ลดการใช้ไฟฟ้าลง 30% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โซลูชัน POLAN ปรับโครงสร้างเครือข่ายแคมปัสจากหลายชั้นเหลือสองชั้น โครงสร้างเครือข่ายที่เรียบง่ายกว่าเดิมทำให้ใช้ห้องอุปกรณ์ไอทีน้อยลง ดังนั้น อัตราการกินไฟของอุปกรณ์และระบบระบายอากาศในห้องอุปกรณ์จึงลดลง 30% ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ได้นำโซลูชัน POLAN ไปใช้ปฏิวัติโครงสร้างเครือข่ายขององค์กร โดยเครือข่ายดังกล่าวรองรับสัญญาณ Wi-Fi เสียง ทีวีความคมชัดสูง และระบบควบคุมบ่อน้ำร้อนอัจฉริยะ ด้วยการรับส่งข้อมูลและจัดการบริการต่าง ๆ จากระยะไกล จึงไม่จำเป็นต้องใช้ห้องอุปกรณ์หลายร้อยห้อง ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าลดลง 100,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เทียบเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 47.5 ตัน หรือการปลูกต้นไม้ 2,065 ต้น

- ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างเครือข่ายลง 20%

สายไฟเบอร์ไม่เพียงส่งมอบบริการที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีข้อได้เปรียบอย่างชัดเจนในด้านขนาด น้ำหนัก และความสามารถในการขยายขนาด จากการสำรวจของไอดีซีพบว่า ลูกค้ายอมรับว่าโซลูชัน POLAN ติดตั้งและใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนสร้างเครือข่ายได้ราว 20%

โรหิต เมห์รา รองประธานของไอดีซี กล่าวว่า “เนื่องจากงานเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกผลักดันไปสู่องค์กรมากขึ้นเรื่อย ๆ เครือข่ายแคมปัสจึงกลายเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาบริการขององค์กร โดยองค์กรมากมายจะหันมาใช้โซลูชัน POLAN เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้ เพิ่มรายได้จากการบริการ และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล”

จินฮุย หวัง ประธานฝ่ายการตลาดของ Huawei Transmission & Access กล่าวว่า “ผลการสำรวจเชิงลึกนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีที่มีต่อการสร้างเครือข่ายแคมปัสได้อย่างแม่นยำ เราเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โซลูชัน POLAN จะถูกนำไปใช้อย่างรวดเร็วในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการศึกษา การโรงแรม และการขนส่ง ทั้งนี้ หัวเว่ยจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโซลูชันและสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อผ่านไฟเบอร์ออปติกให้แพร่หลายไปทั่ว”

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาดาวน์โหลดสมุดปกขาวที่ https://e.huawei.com/en/solutions/enterprise-transmission-access/campus-optix-polan-idc-white-paper