สำนักพิมพ์วิช เอาใจนักเดินทาง ชวนท่องเที่ยวไต้หวัน ผ่านหนังสือ "ไต้หวัน สตอรี่ ก้าวย่างนี้มีเรื่องราว" บันทึกสัญจรสิบวันในไต้หวัน

12 Mar 2021

เมื่อการเดินทางทั่วโลกต้องหยุดชะงักจากสถานการณ์ Covid-19 แผนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนที่ชอบออกเดินทาง ก็เป็นอันต้องพับเก็บโครงการกันไปชั่วคราว แถมเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครบอกได้ว่า การเดินทางทั่วโลกจะกลับมาเป็นปกติอีกเมื่อไร

สำนักพิมพ์วิช เอาใจนักเดินทาง ชวนท่องเที่ยวไต้หวัน  ผ่านหนังสือ "ไต้หวัน สตอรี่ ก้าวย่างนี้มีเรื่องราว" บันทึกสัญจรสิบวันในไต้หวัน

ระหว่างรอคอยวิถีปกติใหม่ สำนักพิมพ์วิช ขอแนะนำ การเดินทางท่องเที่ยวผ่านตัวหนังสือ ไปกับ "ไต้หวัน สตอรี่ ก้าวย่างนี้มีเรื่องราว" บันทึกสัญจรสิบวันในไต้หวัน โดยคุณเอก เอกชัย สุขวัฒนกูล หนุ่มออฟฟิศ ผู้หลงรักการเดินทาง และมีหมุดหมายว่าต้องออกเดินทางปีละครั้ง ได้อาศัยเวลาว่างช่วง Covid-19 นั่งเขียนเรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวไต้หวัน เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและพาผู้อ่านไปสัมผัสไต้หวันในมุมที่ต่างไป

ความพิเศษของ "ไต้หวัน สตอรี่ ก้าวย่างนี้มีเรื่องราว" เล่มนี้ อยู่ที่ความเป็นธรรมชาติ ระหว่างการเดินทาง และเส้นทางที่มีเรื่องราว รวมไปถึงวิธีการเล่าเรื่อง การวางลำดับภาพถ่าย ที่ทำให้อ่านแล้วอิ่มเอมรู้สึกเหมือนกำลังเดินเที่ยวไปในไต้หวัน พร้อมกับสารพันความรู้ในมิติต่าง ๆ ทั้งเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ที่ตั้งใจเรียบเรียงถ่ายทอดออกมาได้อย่างเพลิดเพลินและลงตัว โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยคิดว่าจะไปไต้หวันมาก่อน อ่านแล้วยังรู้สึกว่าอยากไป

ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วน

Day 1 เมาคง
เมาคงและเรื่องของชา

จากสนามบินเถาหยวนผมใช้บริการแอร์พอร์ต MRT เข้าไปยังตัวเมืองไทเป ผมแวะฝากสัมภาระ กับโฮสเทลที่พักสำหรับคืนนี้ ก่อนขึ้น MRT สายสีน้ำตาล (Wenhu Line) ไปลงสุดสายที่สถานีปลายทาง สวนสัตว์ไทเป จากนั้นเดินต่ออีกเล็กน้อยไปยังสถานีกระเช้าเมาคง เพื่อที่จะขึ้นไปยังพื้นที่เมาคง

เมาคง (Maokong) เป็นเขตพื้นที่เขาสูง ทางตะวันออกค่อนมาทางใต้ของไทเป เคยเป็นแหล่งปลูกชาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทเป ชาขึ้นชื่อสองชนิดของที่นี่คือชา "เป่าจง" และชา "ทิกวนอิม" หรือ "กวนอิมเหล็ก" หนึ่งในชาชั้นยอดตระกูลชาอู่หลง เมาคงยังมีเส้นทางเดินเทรลธรรมชาติยอดนิยมไม่ไกลจากตัวเมืองไทเปอีกด้วย

กวนอิมเหล็ก
ชื่อของชากวนอิมเหล็ก (Tiekuanyin) อาจฟังดูแปลกไปบ้าง ตามตำนานเล่าว่า ณ มลฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ประเทศจีน ชาวนาผู้ยากจนคนหนึ่ง ต้องเดินผ่านวิหารที่ประดิษฐานรูปปั้นกวนอิมที่ทำจากเหล็กอยู่เป็นประจำทุกวัน เพื่อไปยังไร่ชาของเขา เขาเห็นวิหารขาดการดูแลและเริ่มเสื่อมโทรมลง แต่ด้วยความยากจนจึงทำได้เพียงหาไม้กวาดมาปัดกวาดทำความสะอาด และจุดธูปสักการะองค์กวนอิม เขาทำอย่างนี้สองครั้งต่อเดือน เป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายเดือน จนกระทั่งในคืนหนึ่งเขาฝันว่าโพธิสัตว์กวนอิมปรากฏกาย ชี้แนะให้เขาไปยังถ้ำด้านหลังของวิหาร จะมีสมบัติอยู่ วันรุ่งขึ้นเขาเดินไปยังถ้ำด้านหลังวิหารตามที่ฝัน ภายในถ้ำเขาพบต้นอ่อนของชาจำนวนหนึ่ง จึงนำมาปลูกในไร่ของเขาและดูแลเป็นอย่างดี หลังจากผ่านการเก็บเกี่ยว เขาพบว่านี่เป็นชาที่ดีที่สุดที่เขาเคยพบมา เขายังนำเมล็ดพันธุ์แบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านด้วยตามที่โพธิสัตว์กวนอิมกล่าว และหลังจากนั้นเขาก็เริ่มขายชาชนิดนี้และตั้งชื่อว่า "กวนอิมเหล็ก" ชากวนอิมเหล็กมีความหลากหลายทั้งจากระดับการคั่วบ่มและฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาที่เก็บในช่วงฤดูใบไม้ผลิจะมีคุณภาพที่ดีที่สุด ความหอมของชาที่เกิดจากกระบวนการคั่วบ่มเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาชนิดนี้

ชาเป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มกันมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอลฮอลล์ (ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในแถบซีกโลกตะวันออก) ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของต้นชา คือ Camellia sinensis ต้นชาบางสายพันธุ์มีความสูงได้มากกว่า 10 เมตร โดยเฉพาะในตระกูลชาอัสสัมที่มีลักษณะเหมือนต้นไม้ทั่วไป ต่างจากต้นชาจีนส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นพุ่มไม้ และนิยมตัดแต่งให้มีความสูงไม่เกิน 1-2 เมตร เพื่อให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว

เรื่องราวการค้นพบและต้นกำเนิดของชา ไม่ได้มีบันทึกไว้แน่ชัด แต่มีตำนานหนึ่งเล่าว่า จักรพรรดิเฉินหนง (Shennong) ในสมัยจีนโบราณ ได้ทรงให้เจ้าหน้าที่ต้มน้ำก่อนนำมาดื่ม ระหว่างนั้นเอง เกิดมีใบไม้ชนิดหนึ่งถูกลมพัดมาตกในหม้อที่กำลังต้มน้ำอยู่ ทรงเห็นว่าสีของน้ำเปลี่ยนไป ทั้งยังมีกลิ่นหอม เนื่องจากพระองค์ทรงมีความสนใจและความรู้ด้านการแพทย์อยู่แล้ว จึงทำการทดสอบ ลองชิม และทรงพบว่ามีสรรพคุณช่วยต้านพิษและรักษาโรคได้

ส่วนบันทึกเรื่องราวของชาที่ถูกรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ ถูกเขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ในหนังสือ "ฉาจิง" (The Classic of Tea) โดยนักเขียนชื่อว่า "ลู่อวี่" โดยเนื้อหาได้อธิบายถึงวิธีการเพาะปลูก การแปรรูป การเก็บรักษา ตลอดจนสายพันธุ์ชาในแต่ละพื้นที่ และฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ดีที่สุดไว้ด้วย

เมื่อพูดถึงชาโดยทั่วไปแล้ว เราสามารถแบ่งประเภทตามสายพันธุ์ที่ปลูก การเก็บเกี่ยว และกรรมวิธีการผลิต ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ ชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง และชาดำ ชาขาวใช้ยอดอ่อน ชาเขียวไม่ผ่านการคั่วบ่ม ชาอู่หลงผ่านการคั่วบ่มบางส่วน สารคาเทชินที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาอู่หลง ส่วนชาดำใช้วิธีการคั่วบ่มแบบสมบูรณ์

ไต้หวันได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตชาอู่หลงอันดับต้นๆ ของโลก เหตุผลสำคัญมาจากที่ชาวไต้หวันส่วนใหญ่ อพยพมาจากมณฑลฝูเจี้ยน บนแผ่นดินใหญ่และได้นำชามาเพาะปลูกที่นี่ด้วย (ฝูเจี้ยนเป็นต้นกำเนิดของชาอู่หลง) นอกจากชาอู่หลงแล้ว ชาดำของไต้หวันเองก็ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นเมนูชานมไข่มุกอันโด่งดังของไต้หวันนั่นเอง

หนังสือ "ไต้หวัน สตอรี่ ก้าวย่างนี้มีเรื่องราว" ราคา 295 บาท
มีวางจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02 418 2885