ความสำเร็จของคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว กับการบริหารจัดการ เพื่อการเข้าถึงการรักษาและลดอัตราการตายได้จริงทั่วประเทศไทย

01 Sep 2021

อุบัติการณ์การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นปัญหาด้านการสาธารณสุขที่สำคัญ งานวิจัยThai Acute Decompensated Heart Failure Registry (Thai ADHERE) ระบุว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน มีสาเหตุหลักมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจพิการและโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โดยอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลและการนอนโรงพยาบาลซ้ำของผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังสูงมากหากเทียบกับโรคเรื้อรังอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ความสำเร็จของคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว กับการบริหารจัดการ เพื่อการเข้าถึงการรักษาและลดอัตราการตายได้จริงทั่วประเทศไทย

โครงการ "คลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว" ในโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายทางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศได้ริเริ่มพัฒนาระบบการบริหารจัดการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถเข้าถึงระบบการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง

แพทย์หญิงธนิตา บุณยพิพัฒน์ กรรมการและเลขานุการร่วม คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาโรคหัวใจ (อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลลำปาง) หนึ่งในคณะทำงานที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ "คลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว" เผยว่า "คลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวจัดตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ที่จะลดอัตราการตายและการนอนโรงพยาบาลซ้ำ และเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในลักษณะของสหสาขาวิชาชีพ ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ยังต้องการสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของโรคเพื่อให้ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ดูแลสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขที่สุด โดยยังมีการติดตามการรักษาจากระบบการแพทย์ที่เหมาะสม"

แม้ว่าข้อมูลเรื่องความชุกของภาวะหัวใจล้มเหลวในประเทศจะยังไม่ชัดเจน แต่ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึงร้อยละ 5 - 7 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้อยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายในห้าปีภายหลังการวินิจฉัย และการศึกษาของ Thai ADHERE ได้ชี้ให้เห็นว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยไทยอยู่ที่ 64 ปี และหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยมีอายุเกิน 75 ปี และมีทั้งหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

"ข้อมูลล่าสุดในช่วงสองปีงบประมาณปี พ.ศ. 2561 และ 2562 ของโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลถึง 245,035 คน และมีจำนวนการนอนโรงพยาบาลทั้งสิ้น 301,648 ครั้ง (คิดเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 150,824 ครั้ง) คำนวณเป็นค่าใช้จ่ายที่ประเทศใช้ต่อปีกว่า 3 พันล้านบาท ทั้งยังพบอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ต่อปี นอกจากนี้ร้อยละ 11.04 ของผู้ป่วยต้องกลับมานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลซ้ำจากภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะเวลา 30 วันอีกด้วย" แพทย์หญิงธนิตา กล่าว

แม้กลุ่มผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวมักจะเป็นผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงภาวะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัยโดยปัจจัยเสี่ยงและโรคร่วมมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งทั้งผู้ป่วยและกลุ่มที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมทั้งในด้านความรู้และการปฏิบัติตัวในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อลดความเสี่ยง เช่น การตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย หากมีอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาโดยเร็ว

อนึ่ง โครงการ "การจัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว" เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการด้านการแพทย์แก่ประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข และยังสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายในการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยในเขตสุขภาพเดียวกัน นอกจากนี้ โครงการคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ ยังช่วยสนับสนุนด้านความรู้และฝึกอบรม เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวในโรงพยาบาลกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ อย่างเช่น การผลิตสื่อโปสเตอร์สรุปแนวทางการวินิจฉัยโรค และแนวทางในการดูแลผู้ป่วยทั้งแบบเรื้อรังหรือภาวะกำเริบ รวมทั้งข้อมูลสรุปการใช้ยาและปรับยาให้ผู้ป่วยที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก มอบให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

"เรามุ่งหวังที่จะกระจายการเข้าถึงการรักษาหรือบริการของคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ โดยการสร้างเครือข่ายในพื้นที่เดียวกันที่มีโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในเครือกระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาเสริมประสิทธิภาพในการให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยผ่านโทรศัพท์ และแอปพลิเคชัน LINE แทนการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย" แพทย์หญิงธนิตา กล่าวเสริม

ปัจจุบัน คลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวในโรงพยาบาล ในเครือกระทรวงสาธารณสุขเปิดทำการแล้ว 75 แห่งทั่วประเทศ จากเป้าหมายที่วางไว้ 76 แห่ง ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย โดยปรากฏผลในเรื่องอัตราการกลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำจากภาวะหัวใจล้มเหลวของผู้ป่วยที่ร้อยละ 3.51 ต่อปี และอัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือร้อยละ 2.3 ต่อปี

"ความทุ่มเทในการพัฒนาและขยายการเข้าถึงการรักษาด้วยการจัดตั้งคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว นั้นนอกจากจะเพื่อรองรับจำนวนของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแล้วยังเป็นการลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลซ้ำหรือเสียชีวิตของคนไข้ด้วยเช่นกัน ในฐานะแพทย์ การได้เห็นผู้ป่วยหายป่วยและยังใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพถือเป็นเป้าหมายสูงสุด และเราก็ยังคงเดินหน้าเพื่อขยายคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งการผนวกเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสื่อสารที่ทันสมัยมาช่วยให้การรักษาเกิดประสิทธิผลยิ่งขึ้นด้วย" แพทย์หญิงธนิตา กล่าวปิดท้าย

ความสำเร็จของคลินิกภาวะหัวใจล้มเหลว กับการบริหารจัดการ เพื่อการเข้าถึงการรักษาและลดอัตราการตายได้จริงทั่วประเทศไทย