กทม.บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นกลุ่มเสี่ยง

18 Apr 2023

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง - ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด 19 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ร่วมกับสำนักอนามัย ให้บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นแก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ กลุ่มติดบ้านติดเตียงในระบบเครือข่ายศูนย์ส่งต่อเพื่อการพยาบาลต่อเนื่องที่บ้าน (BMA Homeward Referral) ในชุมชน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มผู้สูงอายุที่ดูแลโดยผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ที่ผ่านการอบรม

กทม.บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนั้น ยังได้ประสานอาสาสมัครสาธารณสุขสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังรับวัคซีนไม่ครบ เพื่อรวมกลุ่มและนัดวันลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันได้เตรียมบุคลากรทางการแพทย์พร้อมดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรงและทีมสหสาขาวิชาชีพติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยขาดการดูแลรักษาให้ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ หรือหากต้องการรถฉุกเฉินทางการแพทย์ให้ประสานสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลักทั่วกรุงเทพฯ โดยขณะนี้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลัก รวมถึงยาต้านไวรัสยังมีเพียงพอรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ด้วยการฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB (Long Acting Antibody) เพื่อป้องกันการป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการฉีดวัคซีนชนิด Bivalent เพิ่มอีก 1 ชนิด และได้สำรองวัคซีนโควิด 19 ทุกประเภทไว้อย่างเพียงพอ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนตลอดเดือน มี.ค. - เม.ย.นี้ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่ม 608 กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 - 6 เดือนตามความสมัครใจ สามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษาในสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ และ Walk in ในโรงพยาบาลสังกัด กทม.

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้ประชาสัมพันธ์มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อประชาสัมพันธ์ อาสาสมัคร ประธานชุมชน แจ้งข่าวในชุมชน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันตนเองจากโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล การฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามกำหนด การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 รวมทั้งได้เตรียมความพร้อมของยา เวชภัณฑ์ เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามการคาดการณ์อาจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์

กทม.บริการเชิงรุกฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นกลุ่มเสี่ยง