"บิ๊กซี รีเทล (BRC)" โชว์ผลประกอบการแกร่งในไตรมาส 1/2566 รายได้รวมกว่า 27,400 ล้านบาท กำไรโตกว่า 17.6% รับเศรษฐกิจและท่องเที่ยวฟื้นตัว

23 May 2023

บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "BRC" บริษัท Flagship ด้านธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิมของกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) และกลุ่มบริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด (TCC) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โชว์ผลประกอบการสุดแกร่งในไตรมาส 1 ปี 2566 ด้วยรายได้รวม 27,432.9 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรรวม 931.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139.4 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นถึง 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทั้งรายได้จากการขายสินค้า และรายได้ค่าเช่าและบริการ โดยหลักเนื่องจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของร้านค้าในรูปแบบต่างๆ ของบริษัทฯ ภายหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

"บิ๊กซี รีเทล (BRC)" โชว์ผลประกอบการแกร่งในไตรมาส 1/2566 รายได้รวมกว่า 27,400 ล้านบาท กำไรโตกว่า 17.6% รับเศรษฐกิจและท่องเที่ยวฟื้นตัว

คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "BRC" กล่าวว่า "ในไตรมาส 1 ของปี 2566 บิ๊กซี รีเทล สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างน่าพอใจ ด้วยผลกำไรรวมที่เติบโตถึง 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้รวมที่เติบโตขึ้น 2.8% โดยรายได้หลักกว่า 24,256.0 ล้านบาท หรือ 88.4% มาจากการขายสินค้าที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งในรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และธุรกิจอื่น ๆ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีรายได้จากค่าเช่าและบริการคิดเป็นสัดส่วน 8.6% ของรายได้รวม ด้วยมูลค่า 2,350.9 ล้านบาท และรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าโฆษณา ค่าบริการจาก Big Service เป็นต้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.0% ของรายได้รวม ด้วยมูลค่า 826.0 ล้านบาท ในส่วนของการขยายเครือข่ายร้านค้า บริษัทฯ สามารถขยายได้ถึง 180 แห่ง ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ส่งผลให้ปัจจุบัน บิ๊กซี รีเทล มีเครือข่ายร้านค้ากว่า 3,184 แห่ง ทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา"

สำหรับผลการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจหลัก กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ มีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 5.8% ในไตรมาส 1 ปี 2566 เมื่อเทียบกับ 2.4% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจากการมียอดขายจากร้านค้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้น สอดรับกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัว ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 ขณะเดียวกันเครือข่ายร้านค้าในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็กของบริษัทฯ ยังมีการขยายตัวให้เข้าถึงพื้นที่ชุมชนได้ครอบคลุมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนแรกของปี

สำหรับ ธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม มีการปรับกลยุทธ์การขายและการตลาดของบริษัทฯ โดยให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงสำหรับการขายสินค้าแบบB2B และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าให้แก่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมภายใต้โมเดลร้านค้าโดนใจ เนื่องจากการขยายเครือข่ายร้านค้าเพิ่มเติม และยอดขายสินค้าให้แก่สมาชิกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 570.8 ล้านบาท หรือ 324.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในส่วนของ ธุรกิจอื่นๆ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของยอดขายจากร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวและการขายหนังสือภาษาต่างประเทศให้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของยอดขายร้านขายยาสิริฟาร์มา ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นภายหลังการเปิดดำเนินงาน (Ramp-up) ทั้งจากการใช้ประโยชน์จากการขายหน้าร้านอย่างเต็มรูปแบบ และกลยุทธ์การขายที่มุ่งเน้นการขายในปริมาณมากโดยเฉพาะ

นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังมีรายได้จากค่าเช่าและบริการสูงขึ้น ทั้งในกลุ่มธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ในร้านค้าขนาดใหญ่ ร้านค้าขนาดเล็ก และตลาด Open-Air โดยหลักเนื่องจากการทยอยยกเลิกการยกเว้นและส่วนลดค่าเช่าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) ของบริษัทฯ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยว ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ค่าเช่าต่อตารางเมตรต่อเดือน (ROS) ในร้านค้าในรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่และตลาด Open-Air ของบริษัทฯ ให้ปรับขึ้นเป็น 872.0 บาท ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 จาก 846.0 บาท ในงวดปี2565

"สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2566 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโต เพื่อเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยขณะนี้ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน(แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อก้าวต่อไปของการเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งของภูมิภาคอาเซียนอย่างยิ่งใหญ่และยั่งยืน" คุณอัศวินกล่าวสรุป