ดีอีเอส - ETDA เปิดศักราชใหม่กับที่สุดบิ๊กอีเว้นท์ "DGT 2023: Happiness Creation" ยกทัพพาร์ทเนอร์ รัฐ-เอกชน กว่า 50 แห่ง

24 Feb 2023

ดีอีเอส - ETDA เปิดศักราชใหม่กับที่สุดบิ๊กอีเว้นท์ "DGT 2023: Happiness Creation" ยกทัพพาร์ทเนอร์ รัฐ-เอกชน กว่า 50 แห่ง สร้างปรากฏการณ์แห่งปี เร่งเครื่องความสุขให้คนไทย #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล

ดีอีเอส - ETDA เปิดศักราชใหม่กับที่สุดบิ๊กอีเว้นท์ "DGT 2023: Happiness Creation" ยกทัพพาร์ทเนอร์ รัฐ-เอกชน กว่า 50 แห่ง

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยกทัพพาร์ทเนอร์ ภาครัฐ-เอกชน รวมกว่า 50 หน่วยงาน เปิดศักราชความสุขใหม่ของคนไทย จัดงานใหญ่แห่งปี "Digital Governance Thailand (DGT 2023)" ภายใต้แนวคิด Happiness Creation #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล ปรากฏการณ์ทางดิจิทัลครั้งสำคัญของประเทศ ชวนกูรู ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 90 ชีวิต ร่วมผนึกกำลังสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้และเปิดประตูสู่โอกาส จัดเต็มด้วยกิจกรรมไฮไลท์ เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทุกเรื่องดิจิทัล พื้นที่โชว์เคสนวัตกรรมและตัวอย่างใช้งานต่อยอดโอกาสสู่ความสำเร็จบนโลกใหม่ พร้อมด้วยหลากหลายกิจกรรมเทรนนิ่งจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง ดันสปีดดันไทยสู่การเป็น 'ดิจิทัลไทยแลนด์ที่มีความสุขและปลอดภัย' เร่งเครื่องยุทธศาสตร์ประเทศกับเป้าหมายสำคัญ 30:30 ประชาชนที่สนใจเข้าชมงานได้แล้ววันนี้ - 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ มิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญ คือ ตัวเลข 30:30 ที่ต้องทำให้สัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP ของไทยเพิ่มเป็น 30% และขยับ Ranking อันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลให้อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก ภายใน 5 ปีนี้ ซึ่งเราไม่เพียงแต่แข่งขันกับนานาประเทศ แต่ไทยยังต้องแข่งขันกับตัวเอง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางด้านดิจิทัลทางเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กัน โดยการจะขยับ Ranking ดังกล่าวให้เป็นไปตามเป้าดังกล่าวนั้นถือเป็นโจทย์ท้าทาย ที่เราต้องทำให้สำเร็จ ด้วยจุดแข็งที่เรามีทั้งด้านการลงทุนทางด้านโทรคมนาคม การส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง ความเร็วของอินเทอร์เน็ต และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงาน และสิ่งที่เราต้องเพิ่มเติมเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มความเข้มแข็งด้านบริการดิจิทัล โดยเฉพาะในมุมของบริการรัฐ อย่าง e-Government การส่งเสริมผู้ประกอบการด้านดิจิทัล การเสริมสร้างทักษะทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมการค้าปลีกผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการ มีแนวทางคุ้มครองประชาชนจากปัญหาการทำธุรกรรมออนไลน์ ทั้ง การฉ้อโกงออนไลน์ ภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การโจรกรรมข้อมูล การโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่ต้องดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งวันนี้จะเห็นว่า เราใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเปิดกว้าง ไม่จำกัดแค่ในประเทศเท่านั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ อย่างการมี Digital ID ที่สามารถระบุยืนยันตัวตนได้ ตลอดจนการมีกระเป๋าดิจิทัลเพื่อจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างปลอดภัยหรือการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล หรือ Face Verification Service (FVS) เพื่อยกระดับการบริการของหน่วยงานรัฐและธุรกิจ ของเอกชนด้วยดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ที่ ETDA และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามขับเคลื่อน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่สะท้อนเห็นว่า การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลบนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมทำให้ไทยแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างทัดเทียม

"การสร้างให้เกิดโอกาสของการแลกเปลี่ยนร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดโอกาสของความร่วมมือในสังคมยุคดิจิทัล ถือเป็นอีกกลไกสำคัญที่จะพาประเทศไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ซึ่งการจัดงาน DGT2023 ที่เกิดขึ้นใน 2 วันนี้ ถือเป็นกิจกรรมสำคัญโดยภาครัฐ ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของไทยไปถึงไหนและมีจุดไหนที่ยังไปต่อได้อีกเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา Ecosystem ที่เข้มแข็ง ไปพร้อมๆ กับการ Balance การใช้ชีวิตในโลกเสมือน และโลกของความเป็นจริง ให้เราใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้อย่างเข้าใจ รู้เท่าทัน และมีความสุข อย่างยั่งยืน"

ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และประธานคณะกรรมการกำกับ ETDA กล่าวว่า Digital Transformation เป็นกระบวนการสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไม่เพียงภาครัฐเท่านั้นที่ต้องปรับตัว เปลี่ยนผ่านการทำงานและการให้บริการมาอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนเองก็ต้องปรับตัวควบคู่กันไปด้วย เพื่อรองรับโลกดิจิทัลอย่างสมดุล และปัจจุบันจะเห็นว่า การทำธุรกรรมออนไลน์ของคนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี พร้อมๆ กับจำนวนของภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว ทางแก้ต้องมอง 2 ด้าน คือ ในมุมของผู้ใช้งาน ต้องเท่าทันต่อข้อมูลหรือเหตุการณ์ มีสติในการใช้ดิจิทัล ตระหนักและระวังอยู่เสมอ ในมุมของผู้ให้บริการ ต้องมีการจัดการและมีกระบวนการที่ช่วยการันตีความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค อย่างที่ ETDA กำลังดำเนินการเรื่อง กฎหมายการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ ซึ่งในรายละเอียดมีเงื่อนไขของการให้บริการที่แบ่งตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ใช้งาน เช่น ระบบ Escrow Payment ที่กระทรวงฯ มีนโยบายผลักดันให้เกิดการใช้งานมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายออนไลน์ เพราะระบบจะไม่ชำระเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขายจนกว่าผู้ซื้อจะได้รับสินค้าและกดยอมรับสินค้า เป็นต้น ถือตัวอย่างสำคัญที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับการทำธุรกรรมได้อย่างตรงจุด ทั้งนี้ การใช้ดิจิทัลเพื่อสร้างสังคมแห่งอนาคตและลดความเหลื่อมล้ำด้วยการทำให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีง่ายขึ้น มีการจัดการขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม เพื่อให้คนทุกวัยรวมถึงผู้ด้อยโอกาสได้เพิ่มทักษะการใช้ดิจิทัลอย่างให้เท่าทัน เกิดความตระหนัก สามารถเข้าถึงสิทธิ์สวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม ก็เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลตลอดจนทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และมีการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

"การมีโครงการหรือกิจกรรมการดำเนินงานที่สะท้อนสู่การต่อยอดของการเพิ่มขึ้นของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลที่ส่งผลต่อ GDP ของประเทศ อย่าง งาน DGT2023 กับ Theme ที่ใช้ชื่อว่า Happiness Creation จึงเป็นสะพานสำคัญที่จะเชื่อมการทำงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชน เพื่อร่วมกันสร้างระบบนิเวศดิจิทัลไทยให้มีประสิทธิภาพ สู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งเรื่อง Digital GDP และ Ranking ความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลประเทศ"

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวถึงแนวคิด #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัลว่า ในวันที่โลกเสมือนกับโลกความเป็นจริง เริ่มดำเนินไปแบบคู่กัน ส่งผลให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับเราในเกือบทุกกิจกรรม ตั้งแต่การกำหนดตัวตน การใช้ชีวิต การเรียน การทำงานในทุกเจนเนอเรชัน ในปี 2565 ที่ผ่านมา ETDA ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2566-2570 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัล ต่อ GDP เพิ่มเป็น 30% และอันดับความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันทางดิจิทัล (IMD) ไม่น้อยกว่าอันดับที่ 30 ภายในปี 2570 โดย 'การส่งเสริมให้มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP' พุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในสินค้าหรือบริการที่ทำให้เพิ่ม Value Added ในอุตสาหกรรมสำคัญ คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล การค้า ท่องเที่ยว สาธารณสุข การเงิน การศึกษา ขณะที่ 'การเพิ่มอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล' ภายใต้ขอบเขตของแผนยุทธศาสตร์ฯ จะเน้นที่การผลักดัน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ องค์ความรู้ ผ่านการเทรนนิ่งบุคลากรในหลายๆ หน่วยงาน ให้มีความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยี ผ่านการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ด้วยโครงการการให้คำปรึกษาและการรับรองบริการ Digital service การพัฒนา Digital Service Providers ในการเริ่มต้นธุรกิจภายใต้มาตรการกฎระเบียบ ความพร้อมในอนาคต ด้วยการร่วมกันยกระดับการให้บริการของภาครัฐ การเพิ่มการประยุกต์ใช้ดิจิทัล จนนำไปสู่การเปิดกว้างด้านข้อมูล ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ สามารถตรวจสอบได้

ดังนั้น งาน Digital Governance Thailand (DGT 2023) จึงเกิดขึ้น เพื่อทำให้เห็นถึงระบบนิเวศของการผลักดันการทำธุรกรรมฯ ของประเทศ ที่เป็นอีกจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ ETDA ได้มีการชวนพันธมิตรทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งไทยและต่างประเทศ รวมกว่า 40 หน่วยงาน มาร่วมเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นการขับเคลื่อนในการทำธุรกรรมฯ ในทุกมิติผ่านกิจกรรมใน 3 โซนหลัก ประกอบด้วย 1. Stage Zone ที่มาในคอนเซปต์ Digital Phenomenon แบ่งเป็นโซนเวทีเสวนาที่มี 4 เวทีย่อย แต่ละเวทีจะเจาะไปยังประเด็นสำคัญต่างๆ ที่กลุ่มเป้าหมายทั้งภาครัฐ เอกชน SMEs Service Provider ตลอดจนประชาชนทั่วไป ที่จำเป็นต้องรู้ต้องอัปเดตก่อนใคร ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ที่ให้เกียรติมาร่วมเป็นสปีกเกอร์ในงานกว่า 90 ชีวิต ไม่น้อยกว่า 40 หัวข้อที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในเรื่อง Foresight and Trends, Digital ID, e-Government, AI, Digital Platform, SMEs, Well-Being ฯลฯ 2. Exhibition Zone ที่มาในคอนเซปต์ The Creation of Change ที่รวมทุกความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั่วประเทศรวมกว่า 40 หน่วยงาน มาร่วมสนับสนุนการออกบูธ โชว์ผลงานทางดิจิทัลและ Use case ที่สำคัญ คุณจะได้เปิดประสบการณ์ดิจิทัลเพื่อออกแบบความสุขในแบบของคุณเองไปกับบูธของ ETDA ที่ตั้งอยู่กลางฮอลล์ และ 3. Matching & Training Zone คอนเซปต์ Happiness Opportunity พื้นที่แห่งการต่อยอดทักษะและโอกาสในโลกดิจิทัล ที่จะมีทั้งพื้นที่ของการจับคู่ธุรกิจ ที่เปิดให้ Service Provider และ SMEs ได้มาร่วมเจรจาติดต่อธุรกิจ กิจกรรม Digital Job Matching พื้นที่คนรุ่นใหม่ นักศึกษา สำหรับเปิดโลกการทำงานจากบริษัทชั้นนำของไทยกว่า 50 องค์กร และกิจกรรมเทรนนิ่ง โดยสถาบัน ADTE (Academy of Digital Transformation by ETDA) ที่มาเปิดหลักสูตร "Unlock e-Progress ยกระดับบริการยุคดิจิทัล" เติมเต็มความรู้มอบแก่ทุกคน

"ETDA เราคาดหวังว่า กลุ่มเป้าหมายที่สำคัญ ทั้ง กลุ่มภาครัฐ กลุ่ม SMEs กลุ่ม Digital Service Provider กลุ่มภาคประชาชน จะมีความเข้าใจและตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น พันธมิตรต่างๆ ที่มาร่วมขับเคลื่อนงานจะเกิดการเชื่อมโยงศักยภาพระหว่างกันเพื่อให้เกิดการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อร่วมกันส่งเสริม และสร้างสรรค์สังคมไทย สู่สังคมแห่งชีวิตดิจิทัลที่มีความสุขในแบบที่ทุกคนเลือกได้ โดยตลอด 2 วันของการจัดงานทั้งในส่วนของออนไลน์ โลก Metaverse และที่ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 4,000 คน"
ดร.ชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย

โดยงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์คนสำคัญ ดังนี้ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, กรมการปกครอง, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, กรมสรรพากร, กรมสุขภาพจิต, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, การไฟฟ้านครหลวง, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน, บริษัท เทลสกอร์ จำกัด, บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด, บริษัท เอสเอ็มอีมูฟ จำกัด, บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท แอพแมน จำกัด, บริษัท โซเชียลแล็บ จำกัด, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) จำกัด, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไบนด์ ซิสเต็มส์ จำกัด, บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไอด็อกซ์คอนส์ จำกัด, บริษัท ครีเดน เอเชีย จำกัด, บริษัท คอลเลคทีฟ วิสดอม จำกัด, บริษัท จ็อบแคน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ช็อคโก้ คาร์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, บริษัท ดีเพิล จำกัด, บริษัท ทีเอชนิค จำกัด, บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน), บริษัท วิสดอม วาสท์ จำกัด, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท อินดิสทิงท์ จำกัด, บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ชิปป๊อป จำกัด, บริษัท อะแฮพเพนเนอร์ จำกัด, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท, สปริงนิวส์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมโดรนซอคเกอร์ (ประเทศไทย), สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และ SCG WEDO

งาน DGT 2023 : Happiness Creation #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล จัดขึ้นในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2566
ณ มิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน ติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/DGT-2023-Happiness-Creation หรือเพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand

ดีอีเอส - ETDA เปิดศักราชใหม่กับที่สุดบิ๊กอีเว้นท์ "DGT 2023: Happiness Creation" ยกทัพพาร์ทเนอร์ รัฐ-เอกชน กว่า 50 แห่ง