CPF ร่วมเวทีความยั่งยืน มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์โลก หนุนเป้าหมาย Net-Zero

27 Jan 2023

ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักวิชาการอาหารสัตว์ ซีพีเอฟ ร่วมแชร์ประสบการณ์ เวทีเสวนาด้านความยั่งยืน "DSM Sustainability Forum 2023"จัดโดย บริษัท DSM Nutritional Products (Thailand) Ltd. โดยได้รับเกียรติจาก คุณแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวเปิดงาน

CPF ร่วมเวทีความยั่งยืน มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์โลก หนุนเป้าหมาย Net-Zero

ในงานนี้ ดร.ไพรัตน์ เป็นวิทยากร หัวข้อ Sustainable Animal Farming Practice การเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน และดร.กันทิมา พุ่มมาลา ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ในหัวข้อ "Strengthening Food Security through Nature Climate Solution"การสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยกลไกทางธรรมชาติ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 9 โรงแรมคาร์ลตัน กรุงเทพฯ

ดร.ไพรัตน์ กล่าวว่า ซีพีเอฟประกาศเป้าหมายลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 และมุ่งสู่องค์กรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2050 โดยล่าสุดได้ยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 30 เช่น การใช้ Biogas ที่มาจากของเสีย ของการใช้พลังงานทั้งหมดของบริษัท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 600,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด

ในกระบวนการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน นอกจากให้ความสำคัญกับการเลี้ยงโดยยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) แล้ว บริษัท ฯ ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักโภชนาการแม่นยำ คิดค้นนวัตกรรมอาหารสัตว์รักษ์โลก เช่น อาหารสุกรที่สามารถลดปริมาณไนโตรเจนส่วนเกินที่สุกรขับทิ้งออกมาในรูปแบบของสิ่งขับถ่ายถึงร้อยละ 20-30 การลดการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง เพื่อช่วยลดกลิ่นที่เกิดจากมูลสัตว์ ทำให้ปริมาณไนโตรเจนส่วนเกินลดลงร้อยละ 12-13 จากมูลไก่ไข่ การเลี้ยงสัตว์ด้วยจุลินทรีย์ที่ดีอย่างโปรไบโอติก ที่ช่วยจัดสมดุลลำไส้ ส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโตตลอดการเลี้ยงดู ตอกย้ำการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ขั้นสูง ซึ่งดีต่อทั้งสุขภาพสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม

ดร.ไพรัตน์ เสริมว่า ซีพีเอฟ ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์จากทั่วโลก ในการพัฒนานวัตกรรมในกระบวนการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหาร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการประเมินวิเคราะห์ผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาซีพีเอฟ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับ DSM และ Blonk Consultants เพื่อนำนวัตกรรมโซลูชัน "SustellTM" มาใช้วัดผลงานด้านความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ โดยเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และหาแนวทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตอาหารในธุรกิจสัตว์บก และต่อยอดสู่การสร้างผลิตภัณฑ์สีเขียว นอกจากนี้บริษัทกำลังพัฒนาอาหารสัตว์โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ข้าว เพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนเกษตรกรภายในประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไทยอีกด้วย

ในประเด็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยกลไกทางธรรมชาติ ซีพีเอฟร่วมแชร์ประสบการณ์ในฐานะผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบในการร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต ควบคู่กับการกักเก็บคาร์บอนผ่านแนวทาง Nature Climate Solutions ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยกลไกทางธรรมชาติ เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูป่าในพิ้นที่ยุทธศาสตร์ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน รวมถึงพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการอย่างน้อย 20,000 ไร่ ภายในปี 2030 เป็นการรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทางแหล่งอาหารของทุกคน