กทม.แนะสตรีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน

22 Mar 2023

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานข้อมูลในปี 2565 พบหญิงไทยเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุดว่า จากรายงานสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่มารับบริการที่โรงพยาบาลสังกัด กทม.ในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 3,533 ราย สนพ.ได้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมผ่านคลินิกโรคมะเร็งและโครงการ "กทม.ดูแลห่วงใยมะเร็งครบวงจร" ในผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การใช้ฮอร์โมนเพศ หรือยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี หรือไม่เคยมีบุตร การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น รวมถึงผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป พร้อมแนะนำให้มาตรวจคัดกรองทุกๆ 1 - 2 ปี ขณะเดียวกัน สนพ.ได้พัฒนารูปแบบการให้บริการประชาชน เพื่อให้เข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก หากมีความเสี่ยงผู้คัดกรองสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว (Fast Track) และเข้ารับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์และสิทธิการรักษา "รู้เร็ว รักษาไว ปลอดภัย และมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน" ประเมินความเสี่ยงนัดหมายผ่านศูนย์ Bangkok Fast & Clear Center (BFC) ของโรงพยาบาลสังกัด กทม. หรือแอปพลิเคชัน "หมอ กทม."

กทม.แนะสตรีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน

นอกจากนั้น สนพ.ได้ประชาสัมพันธ์การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปให้สามารถคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเอง โดยตรวจหลังประจำเดือนมา 7 - 10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน กรณีที่วัยหมดประจำเดือนสามารถตรวจช่วงใดก็ได้ หรือกรณีที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกแล้วให้เลือกตรวจช่วงที่เต้านมไม่คัดตึง หากพบสิ่งผิดปกติควรมาพบแพทย์ พร้อมแนะแนวเรื่องโรคมะเร็งเต้านมที่พบได้ในคนอายุน้อยตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยช่วงอายุที่พบได้สูงสุดในหญิงอายุ 50 - 55 ปี แต่ในระยะหลังพบว่า ผู้มีอายุน้อยก็สามารถป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้และความรุนแรงของโรคยังมากกว่าผู้ป่วยที่อายุมาก ซึ่งอาจเกิดจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปตามความเจริญของสังคมเมืองและอุตสาหกรรม ทำให้มีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็ง หรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้มากขึ้น ส่วนสาเหตุ ที่แท้จริงเชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งปัจจัยตัวผู้ป่วย ได้แก่ เพศ อายุที่มากขึ้น พันธุกรรม กระบวนการกำจัดเซลล์ในร่างกายทำงานผิดปกติ ไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ปัจจัยทางพฤติกรรม สารเคมี เช่น ฮอร์โมนเพศหญิง และสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดมะเร็งเต้านม โดยมีอาการสัญญาณเตือน ดังนี้ ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะหนาคล้ายผิวส้ม คลำพบก้อนที่เต้านม หรือรักแร้ หัวนมผิดรูป/หัวนมบอดบุ๋ม เต้านมมีผื่นแดงร้อน มีอาการปวดบริเวณเต้านม มีการดึงรั้งของผิวหนังบริเวณเต้านม มีน้ำ หรือเลือดออกจากเต้านม หรือบางรายอาจไม่มีอาการ

สำหรับแนวทางป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคมะเร็งเต้านม ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ซึ่งถือเป็นสิทธิของประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการตรวจคัดกรองโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือการตรวจคัดกรองเฉพาะราย กรณีผู้ไปรับการตรวจคัดกรองที่ไม่มีอาการ หรืออาการแสดงของมะเร็งเต้านม สามารถเลือกวิธีการตรวจคัดกรองโดยต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการคัดกรองเอง ส่วนในรายที่มีอาการแสดง เช่น พบก้อนที่เต้านม ถือเป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัย สามารถเบิกได้ตามสิทธิ โดยทางเลือกการคัดกรองมะเร็งเต้านมในประเทศไทยที่เป็นไปได้ในปัจจุบันคือ การตรวจคัดกรองเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (BSE) ทุกเดือน หากพบความผิดปกติให้ไปรับการตรวจยืนยันที่สถานบริการสาธารณสุข เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจยืนยันแล้วพบผิดปกติให้ส่งต่อ เพื่อทำแมมโมแกรม หรืออัลตร้าซาวด์ต่อไป