ป.ป.ช.เผยงานวิจัย "การพัฒนาบทบาทภาคประชาชนในการเป็นผู้แจ้งเบาะแส" มุ่งกระตุ้นประชาชน ร่วมเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังทุจริต

21 Aug 2023

สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแจ้งเบาะแส เฝ้าระวังการทุจริต หนุนการศึกษา วิจัย วิเคราะห์บทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชน หวังเกิดประโยชน์ในการเสนอแนะแนวทางการแจ้งเบาะแสการทุจริตที่มาจากประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตา

ป.ป.ช.เผยงานวิจัย "การพัฒนาบทบาทภาคประชาชนในการเป็นผู้แจ้งเบาะแส" มุ่งกระตุ้นประชาชน ร่วมเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังทุจริต

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า การวิจัย เรื่อง "การพัฒนาบทบาทภาคประชาชนในการเป็นผู้แจ้งเบาะแส" เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาคประชาชน/ สื่อมวลชนที่มีบทบาทในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเบาะแสการทุจริต ผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ

ซึ่งจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้พบว่า ปัจจุบันช่องทางการร้องเรียน/แจ้งเบาะแสการทุจริตที่เข้ามายังสำนักงาน ป.ป.ช. ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 ส่วนใหญ่มาจากหนังสือร้องเรียน รองลงมาคือ หนังสือราชการ บัตรสนเท่ห์ตำมลำดับ ในส่วนของปัจจัยที่มีส่วนกำหนดความสำเร็จในการแจ้งเบาะแส ประกอบด้วย 7 ปัจจัย ได้แก่ การมีจิตสาธารณะ ความเชื่อมั่นต่อระบบการแจ้งเบาะแส การมีกฎหมายรองรับการแจ้งเบาะแสการทุจริต การได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล/หน่วยงาน การมีกฎหมายต่อต้านการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ การตอบสนองต่อเรื่องร้องเรียน การให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

สำหรับบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนไทย ได้แก่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สถาบันอิศรา ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย จะมีบทบาทที่คล้ายคลึงกัน คือ การนำเสนอเนื้อหาข่าวสารเพื่อเปิดโปงการกระทำทุจริต หรือการกระทำที่มีความเสี่ยงจะนำไปสู่การทุจริตของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้สังคมเกิดการรับรู้และตื่นตัวต่อปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคม โดยแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่จะมาประชาชนในพื้นที่ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการทุจริต ตลอดจนการสืบค้นเองจากแหล่งข้อมูลของหน่วยงานรัฐ โดยปัญหา ส่วนใหญ่ที่พบจากการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร คือ แหล่งข้อมูลที่มาจากประชาชนมักขาดเอกสารหลักฐานประกอบ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของการเข้าถึงแหล่งข้อมูลของหน่วยงานรัฐที่เป็นข้อจำกัดในการตรวจสอบ

การวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ สำนักงาน ป.ป.ช. ควรส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์หรือจัดทำสื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ ถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตลอดจนการเข้าถึงช่องทางการร้องเรียน/แจ้งเบาะแส วิธีการร้องเรียน/แจ้งเบาะแสที่ครบถ้วนและถูกต้อง และเน้น ประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสการทุจริตผ่านช่องทางที่เป็นระบบการแจ้งเบาะแสการทุจริตของ สำนักงาน ป.ป.ช. ให้มากขึ้น ตลอดจนการสื่อสารให้ความรู้และความเชื่อมั่นต่อประชาชนถึงมาตรการในการ คุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้แจ้งเบาะแสร่วมด้วย

ทั้งนี้ องค์ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการวิจัยดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. จะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเฝ้าระวังการทุจริตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ หากร่างกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่ถูกฟ้องคดีปิดปาก ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอให้มีการแก้ไข มีผลบังคับใช้ จะช่วยเพิ่มกลไกและมาตรการในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแส การทุจริต และเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้แจ้งข้อมูลการทุจริตมากยิ่งขึ้น