สถาบันอะลูมิเนียมระหว่างประเทศเผยผลการศึกษาใหม่ พบผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมของการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

15 Sep 2023
  • การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มอะลูมิเนียม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าได้ 60 ล้านตันต่อปีทั่วโลก ภายในปี 2573
  • การศึกษายืนยันอัตราการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมที่ 71% หรือมากกว่านั้น

การศึกษาใหม่เกี่ยวกับการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมเผยว่า การรีไซเคิลกระป๋องเครื่องดื่มใช้แล้วช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ได้ 60 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 โดยการศึกษานี้จัดทำโดยสถาบันอะลูมิเนียมระหว่างประเทศ (International Aluminium Institute) หรือไอเอไอ (IAI) โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเอมิเรตส์ โกลบอล อะลูมิเนียม (Emirates Global Aluminium) คราวน์ โฮลดิงส์ (Crown Holdings) สภาอะลูมิเนียมออสเตรเลีย (Australian Aluminium Council) และโนเวลิส (Novelis)

ผลการประเมินนี้อยู่ในรายงานที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับโลกอย่างโรแลนด์ เบอร์เกอร์ (Roland Berger) รายงานนี้จัดทำให้กับไอเอไอ โดยได้เสนอแนวทาง 25 ประการเพื่อเพิ่มการรีไซเคิล และชุดคำแนะนำเชิงกลยุทธ์ที่ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อพัฒนาการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมสำหรับ 6 ประเทศในตะวันออกกลาง โอเชียเนีย และเอเชีย

การค้นพบและข้อเสนอแนะเหล่านี้มาจากการประเมินระบบการจัดการขยะกระป๋องในออสเตรเลีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม

บรรดาประเทศดังกล่าวได้ร่วมกันให้ข้อมูลเชิงลึกที่นำเสนอเกี่ยวกับการใช้กระป๋อง รวมถึงการรวบรวม และกระบวนการในประเทศและวัฒนธรรมต่าง ๆ การประเมินนี้ยังได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระแสการค้าเศษกระป๋องเครื่องดื่มใช้แล้ว (UBC) ในภูมิภาค ทั้งในภูมิภาคอ่าวอาหรับและเอเชียแปซิฟิก ซึ่งทั้งสองพื้นที่เป็นจุดศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ

ในบรรดา 6 ประเทศดังกล่าวแต่ละประเทศนั้น ได้มีการวิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงแผนการจัดการและแผนการกำกับดูแลขยะ โครงสร้างพื้นฐานในการเก็บรวบรวม อัตราการรีไซเคิลและการฝังกลบ ปริมาณที่มีอยู่ในตลาด แนวโน้มการใช้งาน ประสิทธิภาพโดยรวม การค้ากระป๋องเครื่องดื่มใช้แล้ว การไหลของวัสดุ และเป้าหมายในอนาคต

เกาหลีใต้มีอัตราการรีไซเคิลสูงสุดที่ 96% รองลงมาคือเวียดนามที่ 93% ตามด้วยกัมพูชาที่ 90% ไทย 86% ออสเตรเลีย 74% และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 33%

6 ประเทศดังกล่าวนี้ แบ่งตามหลักเกณฑ์กว้าง ๆ ได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

  • ประเทศที่ไม่มีระบบการรีไซเคิลอะลูมิเนียมอย่างเป็นทางการ (เช่นไทย กัมพูชา และเวียดนาม) ประเทศเหล่านี้พึ่งพาแรงงานนอกระบบเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากกระป๋องสร้างรายได้ให้กับภาคส่วนนี้ กลุ่มประเทศดังกล่าวจึงมีอัตราการรีไซเคิลสูง
  • ประเทศที่มีระบบการรีไซเคิลที่พัฒนาแล้ว (เช่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้) การรีไซเคิลอาศัยระบบจัดการขยะที่ซับซ้อน เช่น หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตตลอดช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ (EPR) และ/หรือระบบมัดจำคืนเงินบรรจุภัณฑ์ (DRS)
  • ประเทศที่มีระบบการรีไซเคิลที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ที่ประเทศนี้ โครงสร้างพื้นฐานการรวบรวมได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่มีระบบ EPR หรือ DRS ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่ได้บังคับใช้ระบบเหล่านี้

อะลูมิเนียมยังคงเป็นตัวเลือกสำหรับบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม โดยคาดว่าการบริโภคทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 50% ระหว่างปี 2563 - 2573 (กล่าวคือ จากระดับ 4.2 แสนล้านกระป๋อง สู่ระดับ 6.3 แสนล้านกระป๋องต่อปี)

คุณมาร์เลน เบอร์แทรม ( Marlen Bertram) ผู้อำนวยการฝ่ายสถานการณ์และการคาดการณ์ของไอเอไอ กล่าวว่า "การศึกษาเชิงลึกนี้ได้ยืนยันสิ่งที่เราได้ตีพิมพ์ไปเมื่อปี 2565 ว่า กระป๋องอะลูมิเนียมที่วางจำหน่ายทั่วโลกประมาณ 71% หรือมากกว่านั้น มีการนำไปรีไซเคิล โดยทางไอเอไอได้เพิ่มความสูญเสียที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการรีไซเคิลลงในข้อมูลที่จัดส่งให้กับโรแลนด์ เบอร์เกอร์ ด้วย และพบว่า 79% ของกระป๋องที่วางจำหน่ายในตลาดของ 6 ประเทศดังกล่าวรวมกันแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นอะลูมิเนียมรีไซเคิลเพื่อการใช้งานอื่น ๆ ต่อไป"

"รายงานดังกล่าวยังเน้นย้ำให้เห็นถึงวิธีที่สำคัญในการทำให้อะลูมิเนียมรีไซเคิลได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการตระหนักรู้ที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับประโยชน์ของการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ รายงานยังแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมของเรามีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการ เพื่อสร้างความแตกต่างอันมีคุณค่าในการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมได้อย่างไร"

"ศักยภาพในการลดคาร์บอนของการรีไซเคิลนั้นไม่ควรประเมินเอาไว้ต่ำเกินไป โดยการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมที่ใช้แล้วมีบทบาทอย่างมากต่อการลดการปล่อยคาร์บอนโดยรวมของอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม เนื่องจากการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 0.6 ตันต่อตัน ซึ่งน้อยกว่าการผลิตอะลูมิเนียมใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 16.6 ตันต่อตัน ซึ่งนี่เป็นสาเหตุที่สมาชิกของไอเอไอมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตอะลูมิเนียมตั้งแต่เริ่มต้น และเพิ่มการใช้เศษอะลูมิเนียม ซึ่งจะช่วยลดการฝังกลบอะลูมิเนียมที่ใช้งานแล้ว"

ประเด็นสำคัญของการศึกษาชิ้นนี้ รวมถึง

  • ไทยมีอัตราการนำกระป๋องกลับมาใช้ซ้ำมากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนกระป๋องทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ระดับ 78% ของกระป๋องที่วางจำหน่ายในตลาด แต่กระป๋อง 14% ยังคงถูกนำไปฝังกลบ
  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการฝังกลบกระป๋อง 67% ส่วนกระป๋องทั้งหมดที่วางจำหน่ายในตลาดมีการนำกลับมาใช้ซ้ำที่ 20%
  • เวียดนามมีการผลิตเศษอะลูมิเนียมคุณภาพสูงในภาคแรงงานนอกระบบ แต่มีอัตราการรีไซเคิลกระป๋องแบบนำกลับมาใช้ซ้ำเพียง 1% ส่วนอีก 92% ของกระป๋องถูกนำไปใช้ในการผลิตอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่การนำกลับมาใช้ซ้ำ
  • เกาหลีใต้มีระบบ EPR มานานกว่า 20 ปี และมีอัตราการรีไซเคิลสูงสุดที่ 96% ในบรรดาประเทศทั้งหมดที่ทำการศึกษา อย่างไรก็ตาม มีกระป๋องที่วางจำหน่ายในตลาดเพียง 37% เท่านั้นที่ถูกรวบรวมและนำไปใช้เพื่อผลิตกระป๋องใหม่ ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำสำหรับประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนามาอย่างดีและมีความสามารถในการรีไซเคิลสูง
  • ออสเตรเลียมีโครงการ EPR แบบสมัครใจอยู่แล้ว และมีโครงการ DRS (ใน 6 รัฐจาก 8 รัฐ ในปัจจุบัน และคาดว่าจะขยายไปถึงอีก 2 รัฐที่เหลือ) ซึ่งช่วยให้มีอัตราการรีไซเคิลที่ 74% แต่เนื่องจากความสามารถในการรีไซเคิลในท้องถิ่นมีไม่เพียงพอ กระป๋องทั้งหมดจึงถูกส่งไปยังต่างประเทศ โดย 48% ส่งออกเพื่อนำไปผ่านกระบวนการกลับมาใช้ซ้ำ
  • กัมพูชารายงานอัตราการจัดเก็บและรีไซเคิลในระดับสูง โดยการจัดเก็บดำเนินการโดยกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งพึ่งพารายได้จากเศษอะลูมิเนียมเป็นอย่างสูง กัมพูชาไม่มีศักยภาพในการรีไซเคิลภายในประเทศ กระป๋องส่วนใหญ่จึงถูกนำไปใช้ผลิตอย่างอื่นที่ไม่ใช่การผลิตกระป๋องใหม่

คุณอับดุลนัสเซอร์ อิบราฮิม ซาอิฟ บิน คัลบาน ( Abdulnasser Ibrahim Saif Bin Kalban) ซีอีโอของเอมิเรตส์ โกลบอล อะลูมิเนียม ชี้ว่า "อะลูมิเนียมเป็นวัสดุสำคัญสำหรับการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนมากขึ้น การรีไซเคิลอะลูมิเนียมใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตอะลูมิเนียมใหม่เป็นอย่างมาก แต่อะลูมิเนียมที่ถูกนำไปฝังกลบก็ยังมีปริมาณมากเกินไป เราต้องพัฒนาทั้งระบบการแยกอะลูมิเนียม เช่น กระป๋องเครื่องดื่มใช้แล้ว และโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิล เรากำลังมีความก้าวหน้า แต่ยังมีหลายอย่างอีกมากที่ต้องทำ ซึ่งเอมิเรตส์ โกลบอล อะลูมิเนียม จะเข้ามามีส่วนร่วม เรากำลังพัฒนาโรงงานรีไซเคิล และในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น เรากำลังร่วมงานกับผู้ผลิตกระป๋อง ผู้ผลิตเครื่องดื่ม และบริษัทจัดการขยะ เพื่อยกระดับการรีไซเคิลอะลูมิเนียมในสังคม"

คุณมาร์กานิตา จอห์นสัน ( Marghanita Johnson) กรรมการบริหารสภาอะลูมิเนียมออสเตรเลีย กล่าวว่า "การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวหน้าสำหรับการรีไซเคิลในออสเตรเลีย แต่ยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และมีการดำเนินการที่สามารถทำได้เป็นรายบุคคลและทำแบบร่วมมือกัน เพื่อช่วยพัฒนาอัตราการรีไซเคิลกระป๋อง ลดการปนเปื้อน และเพื่อเพิ่มอัตราการนำกระป๋องกลับมาใช้ซ้ำ"

คุณซองดรีน ดูเกอร์รอย-เดอเลแซล ( Sandrine Duquerroy-Delesalle) ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและกิจการภายนอกของคราวน์ กล่าวว่า "ความสามารถที่เหนือกว่าในการรีไซเคิลกระป๋องเครื่องดื่มอะลูมิเนียมได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรีไซเคิลที่แข็งแกร่งขึ้นทั่วโลก"

"จากการศึกษาใหม่นี้ เราได้ระบุกลไกที่มีประสิทธิภาพในตลาดสำคัญ 4 แห่งสำหรับคราวน์ ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในซัพพลายเชนอะลูมิเนียมนั้นนำไปใช้ได้ และควรรับผิดชอบต่อการดำเนินการ เราหวังว่ารัฐบาลในแต่ละภูมิภาคจะตระหนักถึงบทบาทสำคัญที่พวกเขามีในการสร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสม เพื่อใช้แนวทางเหล่านี้และผลักดันความคืบหน้า เราจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางกฎหมาย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยส่งเสริมการใช้อะลูมิเนียมรีไซเคิล ทั้งในกรอบเวลาที่ต้องทำทันทีและในระยะยาว"

คุณซาชิน สัตปูตี ( Sachin Satpute) ประธานโนเวลิส เอเชีย กล่าวเสริมว่า "การรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมแบบนำกลับมาใช้ซ้ำ คือวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการประหยัดทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงการลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนในอุตสาหกรรม กระป๋องอะลูมิเนียมใช้แล้วสามารถรีไซเคิลและนำกลับไปวางจำหน่ายใหม่ในร้านค้าได้ภายในระยะเวลาเพียง 60 วัน การรีไซเคิลอะลูมิเนียมใช้พลังงานเพียง 5 % ของพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตอะลูมิเนียมใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ส่งผลให้การปล่อยมลพิษคาร์บอนลดลงถึง 95% ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น โนเวลิสได้ลงทุนและประกาศพัฒนาขีดความสามารถในการรีไซเคิลทั่วโลกเป็นเงินถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เราจะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ๆ ในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อพัฒนาวงจรชีวิตของกระป๋องอะลูมิเนียมด้วยการพัฒนาการรีไซเคิลกระป๋องแบบนำกลับมาใช้ซ้ำ"

การประเมินนี้ประกอบด้วยการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การทบทวนกฎระเบียบ การประเมินบริบทของตลาดและห่วงโซ่คุณค่า การทบทวนการรวบรวมข้อมูล และการกำหนดพื้นฐาน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อค้นพบจากการศึกษานี้ได้ในเอกสารสรุปข้อมูลของเราที่ "การรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเอเชียแปซิฟิก: การทบทวนความสมบูรณ์ของการจัดการขยะใน 6 ประเทศ" (Aluminium Can Recycling in the United Arab Emirates and Asia Pacific: A Review Of Waste Management Maturity In Six Countries)

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/2210219/International_Aluminium_Institute_Logo.jpg