ตลาดทุนไทย ทำไมต้องเป็น "ตลาดทุนยั่งยืน"

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

ปัจจุบัน ประเด็นเรื่อง "ความยั่งยืน" ได้เข้ามาอยู่ในกระแสความสนใจของทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ลงทุน ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยในปี ค.ศ. 2015 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมาย ซึ่งครอบคลุม 3 เรื่องใหญ่คือ 1. สิ่งแวดล้อม (Environment) 2. สังคม (Social) และ 3. ธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ให้ประเทศสมาชิกได้ตระหนักและช่วยกันหาแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาที่สร้างผลลัพธ์ได้อย่างแท้จริง โดยมีกรอบการดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงภายในปี ค.ศ. 2030

ดังนั้น ในภาพใหญ่ของ "ความยั่งยืน" จึงมักจะมีหัวข้อเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูด เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตและบริโภค การอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การอนุรักษ์ทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก การยุติความยากจน คุณภาพการศึกษา ความเสมอภาคและการเคารพสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ความปลอดภัย ความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และการไม่เอาเปรียบระหว่างกัน เป็นต้น

ปัจจุบัน การดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะไปที่ผลประกอบการเท่านั้น แต่ยังขยายผลออกไปเป็น Triple bottom lines (3Ps) ได้แก่ Profit Planet และ People โดยอยู่ภายใต้นโยบายการดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ซึ่งจะช่วยควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส ที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีในข้อตกลงดังกล่าว

ในภาคตลาดทุน บริษัทต่าง ๆ เริ่มนำแนวทาง ESG ผนวกเข้าไปตั้งแต่ในวิสัยทัศน์ พันธกิจองค์กร การกำหนดทิศทาง นโยบาย กลยุทธ์ การบริหารจัดการความเสี่ยง และถ่ายทอดลงมาสู่กระบวนการทำงานจริง เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้ลงทุนทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของ Global Sustainable Funds เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่าเกือบ 2.74 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.5% จากสิ้นปี 2565 สูงกว่ากองทุนทั่วโลกที่มีการเติบโต 4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับตลาดทุนไทย มูลค่าการลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อความยั่งยืน ( ESG Product) เช่น green bond, social bond, sustainability bond และ sustainability-linked bond มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นับตั้งแต่ปี 2561 ที่ ก.ล.ต. ออกกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยังมีส่วนสำคัญในตลาดทุนในการขับเคลื่อนเงินลงทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการผนวกปัจจัยด้าน ESG ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์และบริหารจัดการลงทุน เพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวแก่ผู้ลงทุน โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 มีกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1 พันล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทำไมสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องให้ความสำคัญในเรื่อง "ความยั่งยืน" อีกทั้งในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ได้ดำเนินการอะไรในเรื่องนี้ไปแล้วบ้าง

มีคำตอบชัดเจนอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ตลาดทุนเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามรับรองวาระดังกล่าว ตลาดทุนยั่งยืนจึงมีความหมายตรงตามตัวคือ เป็นตลาดทุนที่จะยืนหยัดพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้

แน่นอนว่าประเทศไทยและคนไทยทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้อย่างเหมาะสมตามบริบทของตนในฐานะของแหล่งระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงการภาครัฐในการพัฒนาประเทศ และเพื่อการขยายธุรกิจของภาคเอกชน รวมทั้งยังเป็นแหล่งออมและลงทุนเพื่อความมั่งคั่งของประชาชน

ตลาดทุนจะมีความยั่งยืนได้จำเป็นต้องมีผู้เล่นในตลาดที่มีความยั่งยืนเช่นเดียวกัน ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริมภาคธุรกิจซึ่งรวมถึงผู้ออกหลักทรัพย์ (issuer) ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง ตลอดจนผู้ลงทุนได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการผนวก ESG เข้าไปในกลยุทธ์ การดำเนินงาน และต้องมีการปฏิบัติจริงที่วัดผลได้ โดยภาคธุรกิจสามารถเปิดเผยข้อมูลบริษัททั้งที่เป็นข้อมูลด้านการเงินและ ESG รวมไว้ในแบบรายงานฉบับเดียวหรือที่เรียกว่า One Report เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจของ stakeholder ที่เกี่ยวข้อง

ก.ล.ต. ยังมุ่งเน้นและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการเพื่อความยั่งยืน และนำไปสู่การสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งรวมถึงการขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญ เช่น การดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการเคารพสิทธิมนุษยชน และการกำหนดนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รักษาระบบนิเวศให้เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายในระดับประเทศและในระดับโลก ประเด็นเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ธุรกิจต้องมีการเปิดเผย ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความรับผิดชอบของธุรกิจแล้ว ยังเพิ่มความโปร่งใสในการประกอบธุรกิจ และลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) รวมทั้งเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุนอีกด้วย

สิ่งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนเมื่อได้เล็งเห็นแล้วว่า บริษัทที่พวกเขาสนใจลงทุนนั้นมีแผนการดำเนินงานที่มีเป้าหมายสู่ความยั่งยืนที่ชัดเจน เมื่อภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นเท่ากับว่า บริษัทจดทะเบียนและหลักทรัพย์ในตลาดทุนไทยมีศักยภาพและความน่าลงทุน จะสามารถดึงดูดผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้อย่างเชื่อมั่น ส่งผลให้ตลาดทุนไทยเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศชาติบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกันด้วย


ข่าวการพัฒนาที่ยั่งยืน+องค์การสหประชาชาติวันนี้

"วีบียอนด์" คว้ารางวัล "Climate Action Leader Awards" จาก AFMA (UN FAO) ตอกย้ำความมุ่งมั่นสู่องค์กรสีเขียวอย่างยั่งยืน

ดร.วรเดช รุกขพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี บียอนด์ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ขึ้นรับรางวัล "Climate Action Leader Awards" ในงาน Climate Action Forum ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบโดย AFMA (UN FAO) เพื่อยกย่ององค์กรเอกชนชั้นนำที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนลำดับที่ 13 (SDG 13) ซึ่งจัดขึ้น ณ องค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายนราพัฒน์ แก้วทอง

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ... EGCO Group คว้ารางวัลเกียรติคุณการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน 6 ปีซ้อน — บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group รับรางวัลเกียรติคุณการเปิดเผยข้อมูลคว...

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร และ... เอปสันกระตุ้นสังคมไทยใส่ใจปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยเรือนกระจกจำลองจากขยะขวดพลาสติก — นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร และนางสาวปวีณา ศรีตระกูล หัวหน้าฝ่า...