อีสานอินไซต์เผยเศรษฐกิจอีสานเดือนมกราคม 2567 สะท้อนทิศทางการฟื้นตัวจากแรงส่งของภาคการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว

29 Jan 2024

อีสานอินไซต์เผยเศรษฐกิจอีสานเดือนมกราคม 2567 สะท้อนทิศทางการฟื้นตัวจากแรงส่งของภาคการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีแนวโน้มชะลอลงอีกครั้ง ตามผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง

อีสานอินไซต์เผยเศรษฐกิจอีสานเดือนมกราคม 2567 สะท้อนทิศทางการฟื้นตัวจากแรงส่งของภาคการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว

ISAN INSIGHT & OUTLOOK โครงการภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จัดทำและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยแพร่บทวิเคราะห์เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ประจำเดือนมกราคม 2567 โดยภาพรวมเศรษฐกิจอีสานเดือนนี้ขยายตัวจากปัจจัยสนับสนุนตามการบริโภคเอกชนและการท่องเที่ยวที่ยังเติบโต อย่างไรก็ตามการลงทุนกลับมาชะลอตัว

อีสานอินไซต์เห็นแนวโน้มของข้อมูลไวที่สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ 2567 นี้ ปรับตัวดีกว่าตอนปีก่อนหน้า (2566) ชัดเจน ถึงแม้จำนวนประกาศวันหยุดในช่วงปีใหม่จะน้อยลงกว่าก็ตาม

อีสานอินไซต์มองว่าปีนี้ภาคอีสานจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกเลือกในการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น โดยคาดการณ์ทั้งปี 2567 จะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนต่างชาติรวม 2.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อน COVID-19 ที่มีเพียง 1.8 ล้านคน โดยได้รับผลดีจากมาตรการฟรีวีซ่าการท่องเที่ยวให้กับชาวจีน อินเดีย คาซัคสถาน และไต้หวัน

ท้ายนี้อีสานอินไซต์ได้จัดทำแบบสำรวจพฤติกรรมทางด้านการเงิน ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของชาวอีสานปี 2567 ระหว่างวันที่ 16 - 20 มกราคม 2567 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจชาวอีสานทั้งหมด 872 คน เพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ทางการเงิน ทั้งด้านรายได้ รายจ่าย รวมถึงหนี้สินของชาวอีสาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายต่อไป

โดยผลสำรวจ ปรากฎผลลัพธ์สำคัญดังนี้

  1. สถานะทางการเงินด้านรายได้ของชาวอีสานส่วนใหญ่ในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มรายได้ตั้งแต่ปานกลางขึ้นไป โดยภาพรวมส่วนใหญ่มีรายได้ที่ทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับกำลังซื้อ
  2. การคาดการณ์รายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม 2567) ส่วนใหญ่ยังมองว่ารายได้ของตนจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่คาดว่ารายได้จะปรับเพิ่มขึ้นชัดเจนตามการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำในช่วงเวลาถัดไป
  3. แนวโน้มค่าใช้จ่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มระดับรายได้ ตามราคาค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตามในภาพรวมชาวอีสานเผชิญกับปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเปิดประเทศแรก ๆ
  4. โครงสร้างการจัดสรรเงินของชาวอีสานในคนละระดับรายได้แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยแทบจะไม่มีสัดส่วนของการเก็บออม และค่าใช้จ่ายหลักกว่า 1 ใน 5 ตกอยู่กับค่าอาหาร นอกจากนี้ผู้มีรายได้น้อยยังมีแนวโน้มลดสัดส่วนการชำระหนี้ ในกรณีที่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
  5. ชาวอีสานส่วนใหญ่มีหนี้ในระบบเป็นหลัก โดยมีภาระเฉลี่ยมากที่สุดที่มากกว่า 1 ล้านบาทต่อคน โดยเป็นการกู้เพื่ออุปโภคบริโภค ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ในขณะที่ผู้ที่มีเงินกู้นอกระบบกู้เพื่อการอุปโภคบริโภค การศึกษา แต่แนวโน้มของการกู้หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นชัดเจน
  6. ส่วนใหญ่ชาวอีสานยังสามารถชำระหนี้ได้ แต่ยังมีส่วนน้อยที่น่าเป็นห่วงจากการมีการผิดชำระหนี้บ่อยครั้ง โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้ที่ลดลง และยังขาดแผนที่จะใช้ในการปรับตัวให้สามารถชำระหนี้ได้
  7. อีสานอินไซต์มองว่าความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งในอีสาน โดยเฉพาะกับด้านการชำระหนี้ เนื่องจากกลุ่มผู้ที่เคยค้างชำระหนี้ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหลักการวางแผนทางการเงินที่ดี และยังมีความคิดในการหมุนเวียนหนี้สินต่อไป