ไข้หูดับ ภัยเงียบที่ป้องกันได้ เพียงงดหมูดิบ และแยกอุปกรณ์สุก-ดิบ

25 Jan 2024

สัตวแพทย์ ม.มหิดล แนะผู้บริโภคสายชาบู หมูกระทะ ตระหนักเรื่องการใช้อุปกรณ์แยกเนื้อหมูสุกและดิบ พร้อมขอผู้ประกอบการให้มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค เตรียมอุปกรณ์คีบเนื้อหมูดิบโดยเฉพาะ เพื่อลดความเสี่ยงโรคไข้หูดับ

ไข้หูดับ ภัยเงียบที่ป้องกันได้ เพียงงดหมูดิบ และแยกอุปกรณ์สุก-ดิบ

ผศ. ดร. นายสัตวแพทย์ดุสิต เลาหสินณรงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรคไข้หูดับ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (STREPTOCOCCUS SUIS) ที่ก่อโรคในหมู ส่วนมากแบคทีเรียชนิดนี้จะอยู่ในต่อมทอมซิลของหมู ซึ่งในกระบวนการชำแหละเนื้อหมูที่ไม่ถูกวิธี หากเฉือนคอไปโดนเชื้อ อาจทำให้เชื้อปนเปื้อนในเนื้อหมู เลือดหมู และส่วนอื่นๆ ได้

ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วยที่พบส่วนมากได้รับเชื้อจากการกินเนื้อหมูดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือ เลือดหมู ที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการติดเชื้อเริ่มต้นจะมีไข้อ่อน การกินยาลดไข้ไม่สามารถช่วยรักษาได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท อาการที่เด่นชัด คือ หูไม่ได้ยิน มีอาการหูอื้อ จึงเรียกโรคนี้ว่า ไข้หูดับ หากเข้ารับการรักษาไม่ทันอาจทำให้มีความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดและไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้หูดับ เช่น การกินยาถ่ายพยาธิ จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ ความจริงคือ ยาถ่ายพยาธิไม่สามารถป้องกันหรือขับเชื้อแบคทีเรียออกจากร่างกายได้ ขณะที่ยังมีอีกหนึ่งความเชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะกินเนื้อหมูดิบจะช่วยฆ่าเชื้อโรคนั้น ความเชื่อนี้ก็ไม่เป็นความจริง แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แม้แต่การบีบมะนาวก็เป็นเพียงการบีบกรดลงบนเนื้อสัตว์ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน ดังนั้น การรับประทานเนื้อหมูสุก และหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่ใช้กับเนื้อหมูดิบมาใช้กับอาหารที่จะรับประทาน ก็จะช่วยป้องกันโรคไข้หูดับได้

ด้านผู้ประกอบการร้านอาหาร ชาบู หมูกระทะ ขอให้มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ด้วยการเตรียมอุปกรณ์สำหรับคีบเนื้อหมูดิบโดยเฉพาะ ให้เพียงพอกับจำนวนผู้ใช้บริการ หากคิดว่าเป็นการเพิ่มต้นทุน สามารถซื้อแบบใช้แล้วล้างเพื่อใช้ซ้ำได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ผู้ประกอบการทุกร้านควรมีอุปกรณ์แยกคีบของสุกและของดิบ

ในส่วนของผู้บริโภค ควรตระหนักเรื่องการใช้อุปกรณ์แยกหมูสุกและดิบ หากทางร้านไม่ได้เตรียมให้ควรร้องขอกับทางร้าน พร้อมควรหยุดนิสัยหรือความเคยชินในการใช้ตะเกียบคีบของดิบร่วมกับของสุก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยและคงไม่เป็นไร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเอง ที่สำคัญก่อนรับประทานต้องแน่ใจว่าเนื้อหมูสุกแล้วเท่านั้น

ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อเนื้อหมูกลับไปประกอบอาหารเองที่บ้าน แนะเลือกซื้อจากร้านจำน่ายที่เชื่อถือได้ ในขั้นตอนการทำอาหาร หากผู้ประกอบอาหารมีบาดแผลที่ร่างกาย ต้องปิดแผลให้มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผล จนนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้

ไข้หูดับ ภัยเงียบที่ป้องกันได้ เพียงงดหมูดิบ และแยกอุปกรณ์สุก-ดิบ