วว. ผนึกกำลังเอกชน ขับเคลื่อนงานวิจัย มุ่งฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

25 Oct 2023

ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทน วว. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ นางสาวอรทัยรัชต์ ภูมิวงศ์พิทักษ์ ประธานบริษัท ซัสเทนเนเบิ้ล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ดำเนินโครงการ "SD Tree for Net Zero" โดยความร่วมมือของ วว. และบริษัทฯในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบูรณาการร่วมกันในการผลักดันผลงานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เกิดการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากงานวิจัยด้านป่าไม้ สู่การร่วมดูแลรักษา การฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และการให้บริการด้านวิชาการแก่ชุมชน เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่ทางสังคมให้สอดคล้องกับ BCG Model ต่อไป

วว. ผนึกกำลังเอกชน ขับเคลื่อนงานวิจัย มุ่งฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

โอกาสนี้ นายสมพร มั่งมี กรรมการ วว. พร้อมด้วย ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม นายจิราวัฒน์ วัฒนบุตร ผู้อำนวยการ กองบริการธุรกิจนวัตกรรม และนักวิจัย วว. ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี ในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุม กวท. ชั้น 8 อาคาร RD 1 วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

"วว. เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) เป้าหมายที่ 15 : ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ หยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งปัจจุบัน วว. มีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร ทั้งการเตรียมความพร้อมดินก่อนการเพาะปลูก การเพาะปลูกที่มีคุณภาพ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงผลักดันองค์ความรู้และประสบการณ์จากงานวิจัยด้านป่าไม้ สู่การร่วมดูแลรักษา และฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยครอบคลุมการบริหารจัดการป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน เยาวชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพื้นที่ทางสังคมให้สอดคล้องกับ BCG Model ซึ่งจะเป็นกลไกการพัฒนาพื้นที่ที่เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงต่อไป" ดร.โศรดา วัลภา กล่าว

ดูข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.tistr.or.th/PressCenter/news/8652/

วว. ผนึกกำลังเอกชน ขับเคลื่อนงานวิจัย มุ่งฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน