กทม.พร้อมยกระดับมาตรการบรรเทาความรุนแรงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อประชาชน

24 Nov 2023

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตือนเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้นว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง"และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยติดตามเฝ้าระวังการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK ซึ่งปัจจุบันมีการแจ้งเตือนสถานการณ์ การพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทาง การทำงาน การทำกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงเพิ่มช่องทางแจ้งเตือนประชาชน เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีค่าเกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จำนวน 10 เขต หรือค่าฝุ่นเกิน 90 มคก./ลบ.ม. จำนวน 1 เขต บน LINE ALERT โดยสามารถเพิ่มเพื่อน LINE ALERT ด้วยการค้นหาไอดี @linealert และประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอันตรายจากการสูดอากาศที่ปนเปื้อนฝุ่น PM2.5 และสารมลพิษทางอากาศ รวมทั้งให้คำแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพและการป้องกันตนเองที่ถูกต้องแก่ประชาชนโดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกประเภทและถูกวิธี เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย

กทม.พร้อมยกระดับมาตรการบรรเทาความรุนแรงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อประชาชน

ขณะเดียวกันได้เข้มงวดตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการก่อสร้างทุกประเภทงดกิจกรรมการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่น ดำเนินมาตรการเชิงรุกตรวจสอบและให้คำแนะนำเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ อาทิ กิจการแพลนท์ปูน กิจการพ่นสี กิจการหลอมโลหะ กิจการที่มีหม้อไอน้ำเชื้อเพลิงดีเซล เป็นต้น ซึ่งสำนักงานเขตจะลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างน้อยแห่งละ 2 ครั้ง/เดือน และรายงานผลการดำเนินงานทุกวัน เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ป้องกันและลดการเกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงประสานสถานีตำรวจท้องที่กวดขันวินัยจราจร อำนวยการจราจรให้คล่องตัว ลดการจราจรติดขัด เข้มงวดตรวจตราในพื้นที่ป้องกันมิให้เกิดการเผาในที่โล่ง เผาหญ้า ขยะ เศษวัสดุเหลือใช้ พร้อมประสานความร่วมมือตรวจจับรถทุกประเภทที่ปล่อยควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 - 22 พ.ย.66 ประกอบด้วย ตรวจควันดำรถในสถานที่ต้นทาง 2,796 คัน ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ 138,858 คัน ตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง 37,172 คัน ตรวจรถบรรทุก 93,512 คัน รวมทั้งสิ้น 272,338 คัน ห้ามใช้สะสม 2,853 คัน อีกทั้งเพิ่มแผนการตรวจจับรถทุกประเภทที่ปล่อยควันดำครอบคลุมตลอดทั้งสัปดาห์ รวมถึงกำชับขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในสังกัด กทม.ตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์ เครื่องยนต์ ไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนั้น ยังได้ป้องกันและดูแลสุขภาพของประชาชน โดยจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 300 เครื่องให้ศูนย์เด็กเล็ก 1,734 เครื่อง ส่วนโรงเรียนอนุบาล ได้ปรับรูปแบบการเรียนของโรงเรียน แจกหน้ากากอนามัย และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 50 เขต หากค่าฝุ่นสูงเกิน 75.1 มคก./ลบ.ม. จะยกระดับการดำเนินการ โดยควบคุมและดูแลการก่อสร้าง/สถานที่ก่อสร้าง ลดค่าโดยสารบีทีเอสส่วนต่อขยาย และขอความร่วมมือเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมเป็นเครือข่ายมาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ปัจจุบันมีเครือข่ายลงทะเบียนพร้อมร่วม Work From Home หากค่าฝุ่นสูง 121 แห่ง และสนใจเข้าร่วม 102 แห่ง รวมจำนวนพนักงาน 47,677 คน หากหน่วยงาน หรือองค์กรประสงค์เข้าร่วม Work From Home ลดฝุ่น PM 2.5 สามารถลงทะเบียนได้ในลิงก์ https://me-qr.com/LM6Q8Jhs ทั้งนี้ กทม.ได้ติดตามเฝ้าระวังและรายงานแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศเพิ่มเติมผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้ แอปพลิเคชัน AirBKK แอปพลิเคชันไลน์ ALERT แอปพลิเคชันไลน์ OA @airbangkok และ www.airbkk.com เพจเฟซบุ๊ก : สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม เพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร

นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้จัดชุดสายตรวจเทศกิจกรุงเทพมหานครและประสานฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตออกตรวจตราดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขัน และห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ รวมทั้งสนับสนุนการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์/เครื่องยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน

นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ไม่ให้เผาขยะในที่โล่ง รวมถึงกำชับพนักงานขับรถบรรทุกและบุคลากรในสังกัดให้หมั่นดูแลรักษาสภาพเครื่องยนต์ หรือกรณีที่ต้องบรรทุกวัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ต้องระมัดระวัง และจัดให้มีวัสดุป้องกันสิ่งที่บรรทุกมิให้ตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้งกระจายบนถนนในระหว่างที่ใช้รถ และต้องนำรถส่วนกลางเข้าตรวจควันดำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้รถส่วนกลางก่อให้เกิดควันดำ สร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 ตลอดจนตั้งจุดตรวจกวดขันรถบรรทุกดิน หรือวัสดุอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองและรถบรรทุกที่เข้า-ออกบริเวณสถานที่ก่อสร้างให้ป้องกันมิให้วัสดุที่บรรทุกตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้งกระจาย และล้างทำความสะอาด ล้อรถบรรทุกก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้างทุกครั้ง

กทม.พร้อมยกระดับมาตรการบรรเทาความรุนแรงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อประชาชน