WHAUP จ่ายปันผลระหว่างกาล 0.060 บาทต่อหุ้น XD 22 พ.ย.นี้

20 Nov 2023

บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ ("WHAUP") ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.060 บาทต่อหุ้น จ่อขึ้น XD วันที่ 22 พ.ย. 2566 และกำหนดจ่าย 4 ธ.ค.2566 หลังงบผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2566 มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ 1,191 ล้านบาท และกำไรปกติ 475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 426 % (YoY) หลังธุรกิจไฟฟ้าฟื้น จากค่า Ft ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิง พร้อมเดินหน้าการลงทุนในธุรกิจน้ำ - ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

WHAUP จ่ายปันผลระหว่างกาล 0.060 บาทต่อหุ้น XD 22 พ.ย.นี้

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ ("WHAUP") เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตรา 0.060 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD (วันที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผล) ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 และกำหนดการจ่ายเงินปันผลวันที่ 4 ธันวาคม 2566 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพความแข็งแกร่งทางการเงิน และความมั่นคงของกระแสเงินสดที่สะท้อนถึงความสามารถในการจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยงวดไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 1,191 ล้านบาท และมีกำไรปกติ (Normalized Net Profit) 475 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72 % และ 426 % ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิ ซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 512 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,844% จากปีก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 3,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% และมีกำไรปกติ จำนวน 1,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ จำนวน 1,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 304% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของกำไรปกติ มาจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่า Ft ได้ปรับขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ทำให้อัตรากำไรในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า SPP ที่จำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมฟื้นตัว ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายน้ำทั้งในประเทศ และในประเทศเวียดนาม ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในไตรมาส 3/2566 ภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) โตจากปริมาณยอดจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 13% (YoY) ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มียอดจำหน่ายและบริหารน้ำรวม เท่ากับ 117 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 5% (YoY) โดยการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายน้ำในประเทศมีปัจจัยหลักมาจากปริมาณยอดขายน้ำดิบ (Raw Water) เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้น้ำของลูกค้ากลุ่มพลังงาน

ขณะเดียวกัน การจำหน่ายน้ำในประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะจากโครงการ Duong River ยังคงมีการเติบโตเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯคาดว่า ยอดจำหน่ายน้ำในประเทศเวียดนามจะเติบโตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกค้าที่ทยอยเปิดดำเนินการในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟส 1 และแผนการขยายธุรกิจสาธารณูปโภคควบคู่ไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศเวียดนาม

ส่วนธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ในไตรมาส 3/2566 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 ในขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้า จำนวน 949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116% (YoY) จากการฟื้นตัวของส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP เนื่องจากค่า Ft ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ทำให้ในส่วนของการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน GHECO-One ในไตรมาส 3/2566 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน GHECO-One มีการหยุดซ่อมบำรุง ทำให้ได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าที่ลดลง

ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในไตรมาส 3/2566 รับรู้รายได้ทั้งสิ้น 108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% (YoY) จากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 บริษัทฯมีกำลังการผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการแล้วรวม 106 เมกะวัตต์ และมีจำนวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Private PPA จากพลังงานแสงอาทิตย์สะสมแล้ว จำนวน 179 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทอยู่ที่ 730 เมกะวัตต์

โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย จำกัด ("AAT") เพื่อติดตั้งโซล่าร์ แบบลอยน้ำ (Solar Floating) โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ติดตั้ง 60,000 ตารางเมตร ในนิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์น ซีบอร์ด (ระยอง) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ซึ่งคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในเดือนกันยายน 2567