กทม.กำหนดแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5

11 Mar 2024

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนว่า กทม.ได้กำหนดแนวทาง การประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยให้สำนักงานเขตพิจารณาดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้การกระทำใด ๆ หรือการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เป็นแหล่งก่อเหตุรำคาญในพื้นที่ที่ต้องการควบคุมเหตุรำคาญ เช่น การเผาในที่โล่ง รถยนต์ที่มีค่าควันดำเกินค่ามาตรฐาน การก่อสร้าง และรื้อถอนอาคาร โรงงาน หรือสถานประกอบกิจการที่มีกิจกรรมการผลิตที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5

กทม.กำหนดแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5

อย่างไรก็ตาม ในประกาศดังกล่าวกำหนดว่า เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้สำนักงานเขตดำเนินการตามมาตรการป้องกัน หรือระงับเหตุรำคาญ โดยควบคุมไม่ให้มีการดำเนินกิจกรรม หรือการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการเผาในที่โล่ง มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการจราจร มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตของสถานประกอบกิจการ มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการปิ้งย่าง มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากเตาเผาศพ มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการจุดธูป การเผากระดาษในศาสนสถาน กรณีสถานประกอบกิจการปล่อยฝุ่นละอองออกสู่บรรยากาศเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด หรืออยู่ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพอาจให้สถานประกอบกิจการ หรือผู้ก่อเหตุรำคาญรายงานผลการดำเนินงานตามประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญด้วย

สำหรับการพิจารณาให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญจะต้องมีครบ 3 องค์ประกอบคือ 1.มีเหตุรำคาญจากฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น สำนักงานเขตต้องพิจารณาและคำนึงถึงกิจการ หรือการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิด เหตุรำคาญอย่างชัดแจ้ง ประชาชนได้รับรู้และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นเหตุรำคาญ มีกฎหมายกำหนดห้ามกระทำการ และกำหนดเป็นความผิดอย่างชัดแจ้ง และมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง 2.มีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 มากกว่า 1 แหล่งขึ้นไป และ 3.มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประชาชนจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยต้องปรากฏลักษณะบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ มีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของประชาชนที่คาดว่า เป็นผลมาจากเหตุรำคาญที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 หรือมีผลการตรวจวัดค่าจากฝุ่น PM2.5 ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยพิจารณาจากค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและเมื่อคาดการณ์แล้วมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน หรือมีผลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพที่บ่งชี้ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือปรากฏโรค หรือความเจ็บป่วยของประชาชนที่คาดว่า เป็นผลมาจากเหตุรำคาญจากฝุ่น PM2.5 เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และโรคตา โดยใช้วิธีทางการระบาดวิทยา หรือวิธีการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ การประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ สำนักงานเขตจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมข้อมูลแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญ นำมาวิเคราะห์ สรุปผล และประเมินสถานการณ์ปัญหาเหตุรำคาญ เพื่อพิจารณาว่าสมควรประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญหรือไม่ หากเห็นว่า ยังไม่สมควรก็จะระงับเหตุรำคาญ แต่หากเห็นว่าสมควรก็จะประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขป้องกันระงับเหตุรำคาญ ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ทำการและบริเวณที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และแจ้งให้ผู้ก่อเหตุรับทราบและถือปฏิบัติ รวมทั้งติดตามและกำกับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขป้องกันระงับเหตุรำคาญ หากเหตุรำคาญระงับแล้ว หรืออยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แล้ว สำนักงานเขตจึงจะประกาศยกเลิกพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญต่อไป

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit