TIA เดินหน้าขยายฐานการให้ความรู้กฎหมาย "Class Action" สู่นักลงทุนและนักธุรกิจ ผ่าน สโมสรโรตารี ลั่นเป็นหน้าที่สำคัญสร้างภูมิและเกราะป้องกันให้กับนักลงทุน!!

12 Mar 2024

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย(TIA) ซึ่งเป็น "องค์กร ตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล" และการทำหน้าที่ สนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน เพื่อความยั่งยืน มาตลอดระยะเวลา 35 ปี และ ทำหน้าที่หลักในการจะช่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ช่วยเหลือผู้ลงทุน ที่เสียหายจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม Class Action ซึ่งเข้ามาเป็นกลไกในการดูแล ช่วยเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย หากเกิดกรณีถูกฉ้อฉล ถูกเอารัดเอาเปรียบไม่ได้รับความเป็นธรรมในการลงทุน

TIA เดินหน้าขยายฐานการให้ความรู้กฎหมาย "Class Action" สู่นักลงทุนและนักธุรกิจ ผ่าน สโมสรโรตารี ลั่นเป็นหน้าที่สำคัญสร้างภูมิและเกราะป้องกันให้กับนักลงทุน!!

คุณ สิริพร จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ( TIA ) เปิดเผยว่า การให้ความรู้ เรื่อง กฎหมาย ฟ้องคดีแบบกลุ่ม - Class Action ยังคงเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของสมาคมในปี 2567 ที่จะยังคงเดินสายและขยายฐานการให้ความรู้ในเรื่อง Class Action ต่อเนื่อง โดยในปีนี้ นอกจากการเดินสายสัญจรให้ความรู้กับทนายความ ตามหัวเมืองทางเศรษฐกิจที่สำคัญแล้ว ทาง TIA จะเข้าไปให้ความรู้กับ นักลงทุนและนักธุรกิจด้วยการบรรยายในหัวข้อ "รู้เรื่องสิทธิ คิดรวมหมู่ สู้ด้วย Class action" ผ่าน สโมสรโรตารีในเขต กทม. ซึ่งในวันที่ 19 มีนาคม นี้ จะให้ความรู้กับนักลงทุนและนักธุรกิจที่สโมสรโรตารีปทุมวัน วันที่ 29 มีนาคม ที่สโมสรโรตารีพระนคร และ วันที่ 3 เมษายน ที่สโมสรโรตารีสีลม จากก่อนหน้าที่ได้บรรยายที่ สโมสรโรตารีบางรัก เมื่อเดือน มกราคม และที่สโมสรโรตารีกรุงเทพ-รัชดาภิเษก เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มนักธุรกิจอย่างมาก

"Class Action หรือการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในสหรัฐอเมริกา มีตัวอย่างว่า ทนายความสามารถทำอาชีพนี้ได้ คือมี ส่วนแบ่งของค่าเสียหายที่เรียกได้ แต่ตลาดหุ้นไทยยังไม่เคยเกิดขึ้นเพราะกฎหมาย เมืองไทยเพิ่งจะมีขึ้น เมื่อปี 2558 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เป็นผู้ยกร่างกฎหมายนี้ เมื่อเห็นกรณีทุจริตฉ้อฉลและโกงในตลาดทุนและมีผู้เสียหายในตลาดหุ้น เป็นจำนวนมาก และเป็นวงกว้าง"

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากฎหมายยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จากงานวิจัยของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เป็นเพราะ มีจุดอ่อนหลัก 2 เรื่องคือ 1. ผู้ถือหุ้นรายบุคคลไม่สามารถรวมตัวกันได้เพราะเมื่อเกิดกรณีแบบนี้แล้ว มักจะปลงบอกว่าเวรกรรมแล้วหลบอยู่เงียบ ๆ และ 2. คือ ความรู้ของทนายความเรื่องตลาดทุนและการเขียนสำนวนให้แข็งแรงพอที่จะเดินสู่กระบวนการยุติธรรมไปถึงขั้นศาลยังมีไม่มาก ดังนั้นสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงรับหน้าที่ในการช่วยทำให้จุดอ่อน 2 เรื่องนี้ให้กลายเป็นจุดแข็ง กฎหมายมีแล้ว ถ้ารวมตัวกันได้ รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องและคืนความยุติธรรมให้แก่นักลงทุน

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา ทาง TIA ได้ร่วมมือสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดหลักสูตรให้ความรู้กับทนายความ เรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมาย Class Action และตลาดทุน ทั้งแบบ Basic และขั้นก้าวหน้า เมื่อจบหลักสูตรมีการทดสอบระดับความรู้ เมื่อผ่านแล้ว มีการมอบ Certificate และขึ้นทะเบียนไว้ที่สมาคม ซึ่งมีทนายความที่ ได้มอบวุฒิบัตรให้กับทนายความที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตร "คดีฟ้องแบบกลุ่ม"- Class Action (ขั้นก้าวหน้า) จำนวน 81 คน

ขณะเดียวกันในฝั่งของผู้ลงทุน เป็นกลุ่มนักธุรกิจที่พร้อมอาจจะกลายเป็นเหยื่อของคนที่คิดไม่ซื่อได้ดังนั้นทาง TIA จึงต้องเดินสายในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ การมีอยู่ของกฎหมาย ว่าในตลาดทุนไทย กฎหมาย Class Action มีแล้ว และมีการบังคับใช้แล้วซึ่งจะเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการ เรียกร้องและ รักษาสิทธิ คืนความยุติธรรมให้กับตัวเอง