SCGC จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Low Waste, Low Carbon

20 Mar 2024

SCGC จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Low Waste, Low Carbon มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ตอบโจทย์เมกะเทรนด์

SCGC จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Low Waste, Low Carbon

เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรระดับภูมิภาค มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาความยั่งยืน ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สานต่อความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ ล่าสุดได้ "ลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการและสัญญาบริการ เพื่อพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน (Decarbonization) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการใช้งานในอุตสาหกรรมในอนาคต" ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ SCGC รวมทั้งผลักดันสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์ สร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เผยว่า "SCGC มุ่งพัฒนา Green Innovation & Solution เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยแนวคิด Low- Waste, Low-Carbon โดยร่วมมือกับองค์กรและสถาบันวิจัยพัฒนาชั้นนำระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นหน่วยงานเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่และทันสมัยที่สุด สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของวัสดุในระดับโมเลกุลและอะตอมได้ ซึ่ง SCGC ได้นำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้วิเคราะห์โครงสร้างผลึกของพอลิเมอร์ในระดับนาโนเมตร จึงช่วยให้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้เร็วยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนา SMX(TM) Technology การพัฒนาเม็ดพลาสติก PE คุณภาพสูงสำหรับผลิตท่อทนแรงดันสูง เป็นต้น นวัตกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทางหนึ่งด้วย การลงนามบันทึกความเข้าใจทางวิชาการฯ ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยยกระดับงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์และเคมีภัณฑ์ของ SCGC แล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์เมกะเทรนด์ สร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก และสร้างประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเตรียมพร้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน"

"ตลอดระยะเวลาความร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่ผ่านมา SCGC ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มป้อนตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการรับรองการจดสิทธิบัตร และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนกว่า 10 ฉบับ อาทิ Industrial & Engineering Chemistry Research, ELSEVIER, ACS Applied Polymer Materials เป็นต้น" ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม SCGC กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า "สถาบันฯ มีพันธกิจในการวิจัย ให้บริการ ส่งเสริมและถ่ายทอดการเรียนรู้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนและการใช้ประโยชน์ นำไปสู่การยกระดับงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยเหตุนี้ สถาบันฯ จึงให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือทางวิชาการมาโดยตลอด สำหรับการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง SCGC และสถาบันฯ ครั้งนี้ จะมีความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์โดยใช้เทคโนโลยีซินโครตรอน และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของทั้งสองหน่วยงาน"

"นอกจากนี้จะมีการสนับสนุนการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และทดสอบ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย โดยใช้แสงชินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสนับสนุนด้านวิชาการ การฝึกอบรม และความร่วมมือทางด้านเทคนิคและวิศวกรรม รวมถึงดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นสมควร และอีกความร่วมมือคือการลงนามสัญญาบริการวิจัยระหว่างบริษัทไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในกลุ่มธุรกิจ SCGC กับสถาบันฯ สามารถสนับสนุนงานวิจัยโครงสร้างพอลิเมอร์ด้วยแสงซินโครตรอนให้มีความต่อเนื่อง สามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์และพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนกล่าวทิ้งท้าย

SCGC จับมือสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมพอลิเมอร์ และเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Low Waste, Low Carbon