ววน. - วช. ร่วมกางโรดแมป ชี้ทิศทางใช้ "นวัตกรรม" ช่วยสร้างทางรอดจากภัย "สึนามิ"

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

ววน. - วช. ร่วมกางโรดแมป ชี้ทิศทางใช้ "นวัตกรรม" ช่วยสร้างทางรอดจากภัย "สึนามิ" ด้วยองค์ความรู้และศาสตร์บูรณาการความร่วมมือ รัฐและชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ววน. - วช. ร่วมกางโรดแมป ชี้ทิศทางใช้ "นวัตกรรม" ช่วยสร้างทางรอดจากภัย "สึนามิ"

กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเวทีเสวนาวิชาการ "จากงานวิจัยและนวัตกรรม…สู่ทางรอดภัยสึนามิ" พร้อมเผยทิศทางของประเทศไทยในอนาคตต้องเตรียมวางแผนรับมือภัยพิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นให้ทำงานเชื่อมกับชุมชนไปจนถึงระดับนโยบาย ให้ทุกภาคส่วนร่วมคิดร่วมทำเพื่อให้งานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ขณะที่นักวิจัยย้ำสิ่งสำคัญต้องมีระบบเตือนภัยและการอพยพที่ดี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. กล่าวเปิดเวทีเสวนาวิชาการ "จากงานวิจัยและนวัตกรรม…สู่ทางรอดภัยสึนามิ" ระบุว่า วช.เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของงานรำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ณ จังหวัดพังงา จัดโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่ง วช.ตระหนักถึงภัยพิบัติธรรมชาติทุกประเภท จึงริเริ่มงานพัฒนากำลังคนและศูนย์เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวเพื่อทำงานร่วมกันแบบสหวิทยาการที่หลากหลาย เพื่อสร้างขีดความสามารถของกำลังคนและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวและ
ภัยพิบัติต่าง ๆ ให้ทัดเทียมนานาชาติ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การเสวนาในครั้งนี้จะเกิดการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรม และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะลดความเสี่ยง ผลกระทบ และบรรเทาภัยพิบัติ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศ. ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว กล่าวว่า แผนด้าน ววน. 2566-2570 มียุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน แก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งพัฒนานโยบายและต้นแบบเพื่อลดความเสี่ยง ผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ววน. ไม่สามารถทำงานตามลำพังได้ ต้องบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและยกระดับชุมชนท้องถิ่น โดยงบประมาณโครงการด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เสนอขอผ่านกองทุน ววน. ระหว่างปี 2563-2567 พบว่ามีทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ที่เน้นการป้องกันสึนามิ รวม 17,528 ล้านบาท แต่ยังขาดงานวิจัยในประเด็นการบรรเทาปัญหาและการฟื้นฟูเยียวยา ในอนาคตกองทุน ววน. จะทำงานเชื่อมกับชุมชนไปจนถึงระดับนโยบาย เพราะต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตั้งแต่คิดโจทย์จากผู้ใช้ประโยชน์เพื่อทำวิจัยให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง

ด้าน ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ย้ำว่าความพร้อมรับมือภัยพิบัติสึนามิสำหรับประเทศไทย สิ่งสำคัญคือระบบเตือนภัยที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค รวมถึงมาตรการอพยพหนีภัย โดยต้องฝึกซ้อมภายใต้สถานการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งผู้แทน ปภ. แจ้งว่าในปี 2567 ได้รับงบประมาณจัดทำการส่งข้อความเตือนภัยจากโทรศัพท์มือถือไปยังประชาชนในพื้นที่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2568

ขณะที่ ผศ. ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ เลขานุการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวถึงแผนที่เสี่ยงภัยและกระบวนการอพยพ เครื่องมือสู่ทางรอดภัยพิบัติสึนามิ ว่าปัญหาหลักคือการปรับปรุงกระบวนการอพยพที่ยังไม่ดีพอ และต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ทะเลอันดามันจนถึงฝั่งตะวันตกของเมียนมา เพราะอาจเกิดคลื่นสึนามิสูง 9 เมตรบริเวณพังงาเช่นเดิม อีกทั้งยังห่วงเรื่องขาดการบำรุงรักษาอาคารหลบภัย ซึ่งในต่างประเทศเช่นที่ญี่ปุ่นสร้างอาคารอเนกประสงค์เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่บังคับให้เรียนรู้ แต่ปลูกฝังให้เกิดสภาพแวดล้อมที่บูรณาการกับชีวิตประจำวันและสนุก ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองได

ด้าน ผศ.ปัญจพาณ์ สุขโข แกนนำนักศึกษาพยาบาลจิตอาสา สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย เผยถึงการให้ความรู้ด้านภัยพิบัติให้เกิดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์เพื่อเตรียมรับมือสึนามิ ภายใต้โครงการการพัฒนารูปแบบการเตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหวเชิงรุกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงของประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. พัฒนาศักยภาพแกนนำแบบมีส่วนร่วม เช่น สร้างโปรแกรมหลักสูตรเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวสำหรับแกนนำชุมชน เน้นการเอาตัวรอด เตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหว ปฐมพยาบาลทางกายและใจ สถานการณ์จำลอง และแผนเตรียมพร้อมรับ 2. พัฒนาแผนการเตรียมพร้อมแผ่นดินไหวโดยแกนนำสู่ภาคประชาชน 3. ประเมินการใช้หลักสูตรสร้างต้นแบบเตรียมความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ สร้างความมั่นคงและเข้มแข็งด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยมีโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวและได้รับผลกระทบจากสึนามิ แกนนำครูและนักเรียนเป็นกลุ่มตัวอย่าง เพื่อสร้างความรู้และทักษะในการเตรียมพร้อมรับมือ และแผนเตรียมพร้อมรับแผ่นดินไหวในโรงเรียน รวมทั้งโครงการพัฒนาเยาวชนเตรียมพร้อมรับสาธารณภัย รำลึก 20 ปี เหตุการณ์สึนามิ ณ จังหวัดพังงา ความรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอด การช่วยเหลือผู้อื่น สื่อสารและแผนเตรียมพร้อมรับ การรับรู้ความสามารถของตนเอง

จากนั้น รองผู้อำนวยการ สกสว. และคณะ ได้ร่วมพิธีเปิดและรำลึกถึงผู้สูญเสีย โดยมี น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย เป็นประธาน รวมถึงร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนในพื้นที่ ณ บริเวณสวนอนุสรณ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ชุมชนบ้านน้ำเค็ม และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม อีกด้วย


ข่าวงานวิจัยและนวัตกรรม+การวิจัยแห่งชาติวันนี้

วช. นำเสนอผลงาน ต้นแบบอาคารคาร์บอนต่ำ ในงาน NRCT Talk ยกระดับการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับงานสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีแถลงข่าว NRCT Talk Phase 2 ครั้งที่ 1 ผลงานวิจัย "อาคารคาร์บอนต่ำ" โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ จินต์จันทรวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย และ ดร.มนสินี อรรถวานิช ผู้ร่วมโครงการ และคณะ จากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมด้วย นายกฤษฎา พลทรัพย์ บริษัท กรีนสเปซ อาคิเทค จำกัด

มทร.ธัญบุรี ทำสำเร็จในการประกวดผลงานวิจัย... มทร.ธัญบุรี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ในเวทีโลก คว้า 6 รางวัล จากงาน "iENA 2024" เยอรมนี — มทร.ธัญบุรี ทำสำเร็จในการประกวดผลงานวิจัยและนวัตกรรมนานาชาติ I...