มองไม่ชัด ตาขุ่นมัว เสี่ยง "โรคต้อกระจก" แพทย์ รพ.วิมุต เผย อายุเยอะเสี่ยงเป็น รีบป้องกันก่อนสูญเสียการมองเห็น

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

ในกลุ่มโรคต้อที่เกิดกับดวงตาของเรา "โรคต้อกระจก" ถือว่าพบได้บ่อยที่สุด และจริง ๆ แล้วโรคนี้ไม่ได้พบแค่ในผู้สูงอายุ เพราะคนอายุน้อยก็เป็นโรคนี้ได้จากปัจจัยเสี่ยงใกล้ตัวที่เราอาจไม่รู้มาก่อน เช่น รังสี UV, การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางประเภท โดยต้อกระจกทำให้เลนส์ตาขุ่นมัว ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น และหากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ วันนี้ พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน ศูนย์จักษุ รพ.วิมุต จะมาเผยปัจจัยกระตุ้นต้อกระจกในคนอายุยังน้อย พร้อมเปิดสัญญาณเตือนของโรคและแนวทางป้องกัน ก่อนดวงตาของเราจะมองไม่ชัดเหมือนเดิม

มองไม่ชัด ตาขุ่นมัว เสี่ยง "โรคต้อกระจก" แพทย์ รพ.วิมุต เผย อายุเยอะเสี่ยงเป็น รีบป้องกันก่อนสูญเสียการมองเห็น

"โรคต้อกระจก" คืออะไร

ต้อกระจก (Cataracts) คือโรคต้อตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ดวงตา ทำให้เลนส์ตาที่ปกติมีความใสเกิดความขุ่นมัว ส่งผลให้ประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่จนเกิดอาการมองไม่ชัดหรือตาพร่ามัว

แพทย์เตือน รังสี UV อันตราย เร่งให้เกิด "โรคต้อกระจก" ไวขึ้น

ต้อกระจกเกิดได้กับทุกคน แต่จะเกิดความเสื่อมช้าเร็วไม่เท่ากัน โดยปกติต้อกระจกเกิดจากอายุที่มากขึ้น พบบ่อยในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป และจะเริ่มรบกวนการมองเห็นมากขึ้นเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่อายุยังน้อยก็เป็นโรคนี้ได้จากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น สูบบุหรี่จัด เคยผ่าตัดตา การใช้ยาสเตียรอยด์ มีโรคประจำตัวที่กระทบสุขภาพดวงตา หรือการประสบอุบัติเหตุบริเวณดวงตา พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ อธิบายต่อ "อีกหนึ่งความเสี่ยงที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้คือการอยู่กลางแดดบ่อย ๆ เพราะจริง ๆ แล้วรังสี UV โดยเฉพาะรังสี UVA ส่งผลต่อการเสื่อมของเลนส์ตาโดยตรง เพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่ทำให้โปรตีนในเลนส์ตาเสื่อมสภาพและจับตัวเป็นก้อน หรือที่เราเห็นเป็นความขุ่นในดวงตา ดังนั้นใครที่อยู่กลางแดดเป็นประจำควรสวมแว่นกันแดดอยู่เสมอ และต้องเป็นแว่นกันแดดที่ได้มาตรฐาน มีการฉาบสารป้องกันรังสี UV"

มองไม่ชัด ค่าสายตาเปลี่ยน สัญญาณ "โรคต้อกระจก"

การเปลี่ยนแปลงของสายตาจากต้อกระจกมักสังเกตได้ยาก เนื่องจากอาการจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอาการที่พบบ่อยคือ ตาพร่ามัว และค่าสายตาเปลี่ยนหลังจากที่คงที่มานาน "คนที่มีความขุ่นของตาเยอะประมาณหนึ่ง ถ้านำไฟฉายส่องจะพบเงาของม่านตาตกลงบนเลนส์แก้วตาที่อยู่กึ่งกลางตาดำ ส่วนคนที่มีสุขภาพเลนส์ตาปกติ แสงจะผ่านได้ดีและไม่ปรากฏเงา ซึ่งคนที่มีแนวโน้มเป็นต้อกระจกให้รีบมาตรวจกับจักษุแพทย์เพื่อประเมินอย่างละเอียด" พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวเสริม

ต้อกระจก ปัจจุบันผ่าตัดรักษาง่าย ปลอดภัยสูง

ปกติจักษุแพทย์จะเป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรคต้อกระจก ซึ่งวินิจฉัยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจเพิ่มเติม ในอนาคตอาจมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ AI เข้ามาช่วยวินิจฉัยเบื้องต้นจากภาพถ่ายดวงตา ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับคนไข้ที่ไม่สะดวกมาโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการนำ AI มาใช้ในการคำนวณค่าเลนส์แก้วตาเทียมที่จะใส่ให้ผู้ป่วย ช่วยเพิ่มความแม่นยำจากการคำนวณแบบดั้งเดิม และช่วยแจ้งเตือนจุดอันตราย (Danger Zone) ระหว่างการผ่าตัด พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ อธิบายถึงการรักษาว่า "การรักษาโรคต้อกระจกจะพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ ถ้าเป็นน้อยและยังไม่รบกวนการมองเห็น สามารถติดตามอาการไปก่อนได้ แต่ถ้าเริ่มกระทบการมองเห็นก็มีวิธีรักษาหลายแบบ อย่างแรกคือการใช้ยาหยอดตากลุ่มต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้หายขาด อีกวิธีคือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะปัจจุบันมีเลนส์ระดับพรีเมียมที่ช่วยให้มองเห็นได้หลายระยะและลดแสงรบกวน แม้จะยังไม่สามารถทดแทนเลนส์ธรรมชาติได้สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัด ซึ่งส่วนมากใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีถุงหุ้มเลนส์อ่อนแอ หรือผู้ที่เลนส์แก้วตาแข็งมากเกินกว่าจะสลายด้วยคลื่นความถี่สูงตามปกติได้"

การผ่าตัดต้อกระจกมีอัตราความสำเร็จสูงถึง 97-99% โดยแพทย์จะประเมินก่อนว่าคนไข้มีสุขภาพตาที่เหมาะกับการผ่าตัดหรือไม่ โดยผู้ที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดคือคนที่สูญเสียการมองเห็น จอตาเสียจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ต้อกระจก กระจกตาเสื่อม หรือดวงตาได้รับความเสียหายมาก เพราะอาจไม่เกิดประโยชน์หรือทำให้อาการแย่ลง หรือถ้าบางรายจำเป็นต้องผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนกระจกตาพร้อมกับรักษาต้อกระจกในการผ่าตัดครั้งเดียว

ผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดคืออาการตาอักเสบและตาแห้ง ซึ่งมักหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ และในช่วงหนึ่งเดือนหลังผ่าตัด ผู้ป่วยต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตา งดล้างหน้า และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกระทบกระแทกดวงตา เพื่อให้แผลปิดสนิทและป้องกันการติดเชื้อ หากดวงตาติดเชื้อจะมีความยุ่งยากกว่าเดิม เพราะอาจต้องผ่าตัดนำเลนส์เทียมออก

"โรคต้อกระจกเกิดได้กับทุกวัย ดั้งนั้นต้องเริ่มดูแลสุขภาพตาตั้งแต่วันนี้ เริ่มจากการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกข้างนอกก็สวมแว่นกันแดดที่เคลือบสารกัน UV และไม่ซื้อยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์มาใช้เอง เพราะถ้าใช้นาน ๆ อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้ ที่สำคัญคือต้องสังเกตการมองเห็นของตัวเองอยู่เสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติ มองไม่ชัด ตาพร่ามัว ก็อยากให้เข้ามาพบแพทย์ทันที ดวงตาของเรามีคู่เดียว อยากให้ดูแลให้ดี จะได้มองเห็นชัดเจนไปนาน ๆ" พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ ศูนย์จักษุ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต เวลาทำการ 08:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0058 หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือใช้บริการปรึกษาหมอออนไลน์


ข่าวโรคต้อกระจก+จักษุแพทย์วันนี้

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และ รพ.หัวเฉียว "ส่งมอบดวงตาสดใส คืนสู่สังคม" ลงพื้นที่ ณ สำนักงานเขตบางพลัด

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลหัวเฉียว ร่วมกับสำนักงานเขตบางพลัด ส่งมอบดวงตาสดใส คืนสู่สังคม ในโครงการ "ตรวจคัดกรองและผ่าตัดต้อกระจก 100 ดวงตา" รวมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสเข้าถึงการรักษาโรคต้อกระจก ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาให้การมองเห็นกลับมาได้เป็นปกติ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิป่อเต๊กตึ๊ง จำนวน 2 ล้านบาท นำโดย พญ.พวงเพชร นาคะพงศ์ จักษุแพทย์เฉพาะทางโรคจอประสาทตาและน้ำวุ้นตา ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลหัวเฉียว นางอรอานันท์ อนันต์ธนพัชร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรฯ นางเพ็ญแข

หากอายุ 50 ปีขึ้นไป พบปัญหาการมองไม่ชัด ม... ตามัว เห็นภาพซ้อนเห็นแสงกระจาย ระวังโรคต้อกระจก — หากอายุ 50 ปีขึ้นไป พบปัญหาการมองไม่ชัด มัวเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง มองเห็นสีต่างๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม...

โรงพยาบาลลาดพร้าว ขอเชิญร่วมเป็นเกียรติใน... เสวนา “ข้อเข่าเสื่อม และ โรคต้อกระจก” — โรงพยาบาลลาดพร้าว ขอเชิญร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และเข้าร่วมฟังเสวนาสุขภาพ...

การเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณด้วยการดูแล... เช็ค 5 สัญญาณเสี่ยงโรคต้อกระจก เลี่ยงภาวะตาบอด — การเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณด้วยการดูแลและตรวจสุขภาพอย่างเป็นประจำ นับเป็นสิ่งที่จำเป็นและส่งผลดี...

จากสถิติรายงานโรคตาของราชวิทยาลัยจักษุแพท... โรคยอดฮิต! ติดเชื้อกระจกตาจากคอนแทคเลนส์และโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม — จากสถิติรายงานโรคตาของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ พบว่า โรคทางตาที่พบมากขึ้นในสังคมไทย ...

ดร.ดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต (คนที่สองนับจากซ้... ภาพข่าว: มูลนิธิพิทักษ์ดวงตาประชาชน จัดงานเลี้ยงปีใหม่ — ดร.ดลพิวัฒน์ ปรีดาวิภาต (คนที่สองนับจากซ้าย) ประธานมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาประชาชน ร่วมกับ แพทย์หญิงโส...

นวัตกรรมการเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม คืนการมองเห็นที่สดใส คมชัดทั้งระยะใกล้-ไกล

90% ของคนทั่วไปที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคต้อกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงสายตายาวตามอายุ ทำให้คุณภาพการมองเห็นของดวงตาด้อยลง ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลปิยะเวท คืนการมองเห็นที่สดใสกว่าเดิม ด้วยนวัตกรรมการเปลี่ยนเลนส์...

ภาพข่าว: บรรยายพิเศษ "รู้ทันภัย โรคต้อกระจก"

คุณสุธี เกตุศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลหัวเฉียว (ที่ 4 จากซ้าย) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมถ่ายภาพกับคณะจักษุแพทย์ น.พ. วิชัย สุเมธพิมลชัยน.พ.อภิวัฒน์ โพธิกำจร และ พ.ญ.ขนิษฐา วชิรเสรีชัย ในโอกาสมาบรรยายพิเศษ เรื่อง “รู้ทันภัย โรคต้อกระจก”...