พ่วงผลกระทบสุขภาพจิต และโครงสร้างแรงงาน เผยตัวเลขผู้สูงวัยเตรียมพุ่งสูงมากกว่า 20-30%
แนะต้องเร่งทางออกผ่านระบบสวัสดิการ และการดูแลแบบมีส่วนร่วม
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" (Aged Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยคาดการณ์ว่า สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 20-30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งแนวโน้มนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงจะทำให้เกิดภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 อัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.1 จากเดิมร้อยละ 10.7 ในปี 2537 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายในภาระการดูแลผู้สูงอายุในด้านการเงินและสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐและครัวเรือน นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานวัยทำงานและการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ไม่มีบำนาญยังเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่ประเทศต้องเตรียมตัวรับมือ โดยผู้สูงอายุหลายคนยังต้องพึ่งพาการดูแลจากภาครัฐและลูกหลานในครอบครัว ขณะเดียวกัน แนวโน้มการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุแบบลำพังยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 มาเป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2567 ตลอดจนปัญหาสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ความเจ็บป่วยต่าง ๆ และความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงออนไลน์เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
รศ.ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ และนโยบายสิ่งแวดล้อมและอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" อย่างเต็มรูปแบบ (Complete aged society) โดยมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 20-30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยในทุก ๆ 100 คน เป็นผู้สูงอายุ 21 คน เมื่อพิจารณาเชิงโครงสร้างประชากรตามเพศ พบว่า ผู้สูงอายุเพศหญิงมีจำนวนมากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย โดยคิดเป็นร้อยละ 57.9 และร้อยละ 42.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ หากจำแนกตามช่วงวัย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุวัยต้น (60-69 ปี) ร้อยละ 59.3 รองลงมา คือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) ร้อยละ 29.8 และน้อยที่สุดคือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 10.9
แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งมีผลกระทบสำคัญต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว หนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนคือ สัดส่วนประชากรวัยทำงานที่ลดลง พร้อมกับอัตราส่วนพึ่งพิงผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.7 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 31.1 ในปี 2567 ซึ่งหมายความว่าประชากรในวัยทำงานทุก ๆ 100 คน จะต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุถึง 31 คน สถานการณ์นี้จะทำให้แรงงานในประเทศต้องเผชิญกับภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นในครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือบำนาญก็ยังจำเป็นต้องทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกันยังต้องพึ่งพาจากภาครัฐและลูกหลานในการดูแล
"คาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานและทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำงานในภาคแรงงานได้เต็มที่ อีกทั้งภาระการดูแลสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลต้องมีการปรับตัวในการจัดสรรงบประมาณสาธารณะเพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การเพิ่มโครงการประกันสุขภาพหรือการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการสร้างกลไกเพื่อสนับสนุนการประกันสังคมอย่างโปร่งใสและยั่งยืน ยกตัวอย่างกรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีระบบเก็บภาษีสำหรับบำเหน็จบำนาญแก่ประชาชนในอนาคต และมีการร่วมสมทบระหว่างรัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ประเทศไทยควรศึกษาและนำมาใช้ในระบบสวัสดิการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมสูงวัย"
นอกจากนี้ การปรับตัวของภาคธุรกิจและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตยังเป็นอุปสรรค เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ ทำให้การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหลายภาคส่วนยังคงเป็นเรื่องท้าทายและต้องใช้เวลาในการปรับตัว ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐอย่างทั่วถึง เพราะขาดแคลนอุปกรณ์ดิจิทัลพื้นฐาน เช่น สมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทะเบียนและเข้าถึงบริการภาครัฐในยุคดิจิทัล ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุบางส่วนหลุดจากระบบและไม่ได้รับการสนับสนุนหรือการดูแลที่เหมาะสมจากภาครัฐ
รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จำนวนผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นและจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานทั้งในภาคการเกษตร บริการ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและอาจส่งผลให้ไทยต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ในขณะที่ค่าแรงของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกลุ่มแรงงานเหล่านี้ประกอบด้วยทั้งผู้ที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและผู้ที่ไม่มีเอกสารรับรองอย่างถูกต้อง โดยแรงงานที่มาทำงานผิดกฎหมายอาจทำให้เกิดปัญหาด้านอาชญากรรมและความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการควบคุมของภาครัฐ อีกทั้งการลดลงของประชากรวัยทำงานยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะหลากหลายและความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ การเพิ่มภาระในด้านการทำงานอาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตในการทำงานถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (work-life balance)
อีกแง่หนึ่ง คนรุ่นใหม่อาจต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น จนอาจเกิดความตึงเครียดระหว่างรุ่น ทั้งในเรื่องการแบ่งทรัพยากรและหน้าที่ดูแล ซึ่งสะท้อนถึงความต่างด้านทัศนคติระหว่างเจเนอเรชันในสังคมไทยอย่างชัดเจน การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังความเข้าใจระหว่างรุ่นตั้งแต่ในโรงเรียน ไปจนถึงวัฒนธรรมการทำงาน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดความเครียดทางจิตใจที่อาจลุกลามจนเป็นโรคทางจิตเวช หรือรุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตาย สังคมไทยจำเป็นต้องเร่งสร้าง "ภาวะลีซีเรียน" (Resilience) หรือความสามารถในการรับมือและฟื้นตัวจากความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนมีทักษะจัดการอารมณ์และความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ถูกบรรจุอย่างจริงจังในระบบการศึกษาและควรได้รับการผลักดันโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวในครัวเรือนยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 12.9 ในปี 2567 ซึ่งสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครอบครัวและวิถีชีวิตในสังคมไทยยุคใหม่ สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง และความเหงา จากการที่บุตรหลานจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพในเมือง ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะเปราะบาง และเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงหรือฉ้อโกง หลอกให้ลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ หรือรูปแบบอื่น ๆ ปัญหาดังกล่าวจึงควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยภาครัฐและสังคมควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีบทบาทที่ชัดเจนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาระบบการดูแลที่ครอบคลุมทั้งในมิติทางร่างกายและจิตใจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งมั่นในการพัฒนาความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมสูงวัย โดยเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการเข้ากับทักษะทางสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาและผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนในการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป" รศ.ดร.อัจฉรา กล่าวทิ้งท้าย
ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาหัวข้อเรื่อง "The China-Thailand Forum on Innovation and Development in Environmental Science and Engineering" จัดโดย กลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. ร่วมกับ Kunming University of Science and Technology National Science Park.,Ltd. (ประเทศจีน) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้การดำเนิน
รวมใจ ให้โลหิต 1 พฤษภาคม วันแรงงานไทย May Day : Give Blood Save Lives
—
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์ และการบัญชีมหาวิทยา...
แว่นท็อปเจริญ จับมือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนาม MOU ผนึกกำลังสร้างโอกาสให้บัณฑิต พัฒนาศักยภาพสู่ความพร้อมในโลกธุรกิจจริง
—
นายนพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ ประ...
สวทช. คว้า 2 รางวัลผลิตสื่อสร้างสรรค์จากเวที Commu Max Competition จากผลงาน Thailand's Food Bank และ Innovation Grows@TSP
—
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนง...
AMR โชว์นวัตกรรมผลิตป้ายทะเบียนอัตโนมัติ พร้อมต้อนรับพาร์ทเนอร์ ขยายโอกาสสู่อาเซียน
—
นายณัฏฐชัย ศิริโก (ที่ 3 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ...
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ชวนร่วมงานสัปดาห์หนังสือฯ
—
ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ชวนร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 23 ณ...
อาจารย์วารสารฯ มธ. แนะ "สื่อ" นำเสนอข่าวเซนซิทีฟต้องสร้างวิจารณญาณ มากกว่าปลุกเร้าอารมณ์ร่วม
—
อาจารย์วารสารฯ มธ. แนะ "สื่อ" นำเสนอข่าวเซนซิทีฟต้องสร้างวิ...
นัท วอล์คเกอร์ พาวอล์ค: เที่ยวชมเมืองเก่า สัมผัสเสน่ห์ยามเย็นริมถนนพระอาทิตย์
—
ถนนพระอาทิตย์นั้นเริ่มตั้งแต่ถนนพระสุเมรุไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอด...