"ท๊อป จิรายุส" สรุป 5 ไฮไลท์เศรษฐกิจโลกจากเวทีประชุมผู้นำ Summer Davos 2025 เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

สรุปประเด็นสำคัญจากเวทีการประชุม Annual Meeting of the New Champions 2025 หรือที่รู้จักกันในชื่อ Summer Davos 2025 ของ World Economic Forum โดย "ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา" ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้เข้าร่วม ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำถึง 5 ประเด็นหลักที่คนไทยจำเป็นต้องรู้

"ท๊อป จิรายุส" สรุป 5 ไฮไลท์เศรษฐกิจโลกจากเวทีประชุมผู้นำ Summer Davos 2025 เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีน
  1. จุดสิ้นสุดยุค Post-war Order สู่โลกใบใหม่ที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน

เราทุกคนเติบโตมาในโลกที่เรียกว่า Post-war Order หรือ "การจัดระเบียบโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ที่มีลักษณะ 5 อย่าง ได้แก่

1) สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจเดียว (Unilateral System) ที่ส่งเสริมโอกาสให้ประเทศอื่น ๆ เติบโตได้ในด้านเศรษฐกิจและส่งผลให้เกิดโลกาภิวัฒน์ (Globalization)

2) ความเชื่อมั่นในการค้าเสรีระหว่างประเทศต่าง ๆ สะท้อนจากการมีอยู่ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) หรือการทำข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements: FTAs)

3) สาธารณรัฐประชาชนจีนเปรียบเสมือนโรงงานของโลกที่สามารถผลิตสินค้าได้ในปริมาณที่เยอะและต้นทุนต่ำ

4) สาธารณรัฐประชาชนจีนมีประชากรมากที่สุดในโลก

5) ความเชื่อมั่นในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)

แต่ตอนนี้โลกกำลังเข้าสู่ "Pre-something World" ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าจะแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ประเทศมหาอำนาจจะไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว แต่จะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย เป็นระบบ 3 มหาอำนาจ (Multilateral System)

  1. Globalization สู่ Regionalization การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่

เมื่อเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนอันเนื่องมาจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษี (Tariff) ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ประเทศขนาดเล็กต้องรวมกลุ่มกันเพื่อความอยู่รอดในการสร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจ เช่น กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน หรือ "DEFA" (Digital Economy Framework Agreement) ที่เป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มกันในระดับภูมิภาค (Regionalization) และเมื่อโลกเกิด Regionalization มากขึ้น จะส่งผลให้การค้าแตกเป็นส่วนแยกย่อยมากขึ้น

  1. อินเดียจะขึ้นแท่นโรงงานแห่งใหม่ของโลก

ขณะที่ทั่วโลกมีอัตราการเกิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศอินเดียและทวีปแอฟริกาแต่อย่างใด ส่งผลให้ฐานการผลิตสินค้าที่เน้นจำนวนเยอะและต้นทุนต่ำจะค่อย ๆ ย้ายไปอยู่ที่อินเดียและทวีปแอฟริกา ซึ่งจากเดิมที่จีนเป็นฐานการผลิตที่เน้นปริมาณมากจะผันตัวสู่การเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรม (Leader in Innovation) ที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถคงอัตราการผลิตทั้งในด้านปริมาณและต้นทุนไว้ได้เหมือนเดิม

เมื่อจีนได้อำลาตำแหน่งโรงงานโลกแล้ว ส่งผลให้ตำแหน่งศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทาน (Centralized Supply Chains) หลุดไปเช่นเดียวกัน และสะท้อนให้เห็นได้จากอัตราการค้าระดับโลก (Global Trade) ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงอัตราการค้าโดยตรง (Direct Trade) ระหว่างจีนและอเมริกา แต่ทั้งสองประเทศยังคงพึ่งพากันผ่านการค้าทางอ้อม (Indirect Trade) ซึ่งผ่านประเทศตัวกลาง และจีนเลือกที่จะลงทุนในแถบลาตินอเมริกาและอาเซียนมากขึ้น

สองผลกระทบที่เกิดจากการไม่ไว้วางใจกันของจีนและสหรัฐอเมริกานี้ จะส่งผลให้หลายประเทศเพิ่มจำนวนคู่ค้ามากขึ้น ไม่ได้ตั้งโรงงานหรือฐานการผลิตแค่เฉพาะประเทศจีนหรือสหรัฐอเมริกาเท่านั้นแล้ว เพื่อกระจายความเสี่ยง เปรียบเสมือนการใส่ไข่ในตะกร้าหลายใบ และอาเซียนจะได้รับความสนใจจากหลายประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ เส้นทางการค้าเริ่มมีการแตกกระจายเป็นห่วงโซ่อุปทานเล็ก ๆ ระหว่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ที่จะนำไปสู่ Regionalization ในที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีของประเทศมหาอำนาจ

  1. การมาถึงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution)

ตัวแปรสำคัญในการเร่งให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือ การมาของ AI และ Robotics ซึ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน โครงสร้างทางธุรกิจ และเพิ่ม Productivity ได้ในระดับมหภาค นำไปสู่การเป็น Smart Manufacturing หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ในกระบวนการผลิตและการทำงาน ในส่วนของด้านแรงงานจะเกิด Reshoring คือ การที่แต่ละประเทศเรียกแรงงานและฐานการผลิตกลับมาสู่ประเทศของตนเอง อันเนื่องมาจากการไม่ไว้วางใจกันระหว่างประเทศ ทำให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพิ่มมากขึ้นทวีคูณ แต่ด้วยแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ต้องหันมาพึ่งแรงงานจากประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอินเดียที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวและมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสูง ซึ่งอินเดียจะกลายเป็นข้อต่อสำคัญของเกือบทุกประเทศในอนาคต แล้วเมื่อทุกประเทศหันมาผลิตเองก็จะไม่สามารถคุมต้นทุนจาก Economy of Scales ได้ ทำให้ต้นทุนจะต้องสูงขึ้น และจะเกิดการเพิ่มเงินเดือนเพื่อดึงตัวแรงงานที่เป็น Talent อีกด้วย

  1. นโยบาย AI Plus ของจีน กระทบธุรกิจไทย

ในเวทีการประชุมผู้นำโลกครั้งนี้ Premier Li Qiang นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ออกมาประกาศถึงนโยบายสำคัญที่จะนำ AI มาใช้งานแบบครบทั้ง 3 มิติ ในชื่อว่า "AI Plus" ดังนี้

1) Open Source AI โดยมี DeepSeek เปิดให้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศสามารถใช้งานได้

2) AI Could จาก Huawei ที่เป็นบริษัทภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน รับหน้าที่ในการสร้าง Cloud

3) Data ที่รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำไปใช้งานได้

หากทั้ง 3 มิตินี้ สามารถใช้งานร่วมกันได้ จะทำให้ทุกอุตสาหกรรมในจีนขับเคลื่อนด้วย AI ส่งผลให้ Productivity ของจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดการใช้แรงงานของคนและหันมาใช้หุ่นยนต์แทนในที่สุด ดังนั้น การมาของนโยบายนี้จะส่งผลให้ธุรกิจของจีนมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงมาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐของไทยและผู้ประกอบการชาวไทยควรรีบปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ 5 ประเด็นสำคัญจาก Summer Davos 2025 เป็นเรื่องที่คนไทยจำเป็นต้องรู้และเข้าใจ เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ การทำธุรกิจ และการลงทุนของเราในอนาคต เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมและปรับตัวตามทิศทางโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จะช่วยให้คนไทยไม่ตกขบวนและสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่


ข่าวจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา+World Economic Forumวันนี้

"ท๊อป จิรายุส" ร่วมประชุม World Economic Forum 2025 ถกอนาคตการเงินโลกสู่รูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล-โทเคนดิจิทัล

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนในประเทศไทย ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านการเงินในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ประจำปี 2568 (World Economic Forum 2025) ภายใต้หัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงจากสินทรัพย์สู่สินทรัพย์ดิจิทัล" ร่วมกับผู้นำด้านการเงินจากหลากหลายหน่วยงานทั่วโลก ได้แก่ คุณ Ola Doudin ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BitOasis, คุณ Jeremy Allaire ผู้ร่วมก่อตั้ง, ประธานกรรมการ

บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำ... บิทคับ กรุ๊ป จัดงาน Bitkub Meetup ครั้งที่ 6 กับหัวข้อสุดร้อนแรง "ทำไมบิทคอยน์ยังน่าลงทุน?" — บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทในเครื...