ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเป้าหมาย Net Zero ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน ด้วยการเข้าร่วมงาน ASIA Sustainable Energy Week 2025 (ASEW 2025) มหกรรมพลังงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย เป็นงานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติระดับภูมิภาคเอเชีย ด้านพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างวันที่ 2 - 4 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดโดยกระทรวงพลังงาน ร่วมกับอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า " ASEW 2025 ถือเป็นเวทีระดับภูมิภาคที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ องค์กร และเครือข่ายด้านพลังงานจากทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานสะอาด มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมยกระดับบทบาทของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมพลังงานสะอาดของภูมิภาค การเข้าร่วมของ มจธ. ในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมอันโดดเด่น แต่ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนา "คน" และ "โลก" สู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม"
สำหรับผลงานวิจัยที่เข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความยั่งยืน แบ่งออกเป็นสามกลุ่มหลัก สะท้อนวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมทั้งมิติของคน โลก และเศรษฐกิจ ดังนี้ 1. People: พัฒนา "คน" สู่ความยั่งยืน มจธ. ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง จึงได้นำเสนอ หลักสูตร Degree และ Non-degree ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน จากคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมและสร้างแรงงานที่มีคุณภาพพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต
2. Planet: งานวิจัยเพื่อโลกสีเขียว หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด คือ การพัฒนานวัตกรรมที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มจธ. จึงได้นำเสนอผลงานวิจัยที่โดดเด่นหลากหลายชิ้น อาทิ ระบบผลิตไฟฟ้าจากต้นไม้ โดย ผศ. ดร.รุจิรา ดลเพ็ญ จากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการให้ความรู้ด้านพลังงานชีวภาพและต่อยอดสู่พลังงานทดแทนในอนาคต ระบบปั๊มความร้อนสูงแบบสองวัฏจักร จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ใช้สารทำงาน R-134a และเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มอุณหภูมิน้ำ ช่วยประหยัดพลังงานได้มากยิ่งขึ้น, การพัฒนาลิกนิน (Lignin) ที่ออกแบบเฉพาะตามความต้องการผู้ใช้สำหรับการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม และการผลิตไบโอชาร์ (Biochar) จากก้อนเชื้อเห็ดหูหนูคัดทิ้ง โดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางการนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า
ผลงานการสกัดไบโอซิลิกาบริสุทธิ์จากแกลบข้าว โดย ผศ. ดร.สิริลักษณ์ เจียรากร คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ ด้วยกระบวนการชีวภาพที่ลดการใช้พลังงานและไม่มีสารเคมีตกค้าง สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกระบวนการสกัดไบโอซิลิกาบริสุทธิ์ได้กว่า 30 เท่า เมื่อเทียบกับวิธีการสกัดแบบดั้งเดิม, งานบริการทดสอบเซลล์แสงอาทิตย์ โดยศูนย์ CES Solar Cells Testing Center (CSSC) ซึ่งให้บริการรับรองคุณภาพและมาตรฐานแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ, ผลงานวิจัยประสิทธิภาพการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร และ ผลงานวิจัยเพื่อศึกษาวิเคราะห์ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่นำมาใช้ในอาคารต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์การจัดการด้านพลังงานสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (EESH) และ SCADA Network สำหรับการควบคุมและติดตามระบบพลังงานภายในศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยสำนักบริหารอาคารและสถานที่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการบริหารจัดการพลังงานในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
3. Prosperity: นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มจธ.ยังได้นำเสนอผลงานที่เชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ น้ำปลาซองเต้ (Sante Sauce) โดย ศ. ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นน้ำปลาโซเดียมและโพแทสเซียมต่ำ สำหรับผู้ป่วยความดัน โรคไต และโรคหัวใจ สะท้อนถึงการนำองค์ความรู้ด้านอาหารมาประยุกต์ใช้เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานของ OsseoLabs บริษัท Spin-off ที่ต่อยอดผลงานวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มจธ. โดยใช้เทคโนโลยี 3D Printing พัฒนา"วัสดุปลูกถ่ายกระดูกแบบเฉพาะบุคคล" เพื่อเพิ่มความแม่นยำและประสิทธิภาพในการผ่าตัด ซึ่งเป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์ รวมถึงผลงานวิจัยและโครงการภายใต้ความร่วมมือศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) และหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งเป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าในการพัฒนานวัตกรรมด้านยานยนต์และระบบขนส่งเพื่อความยั่งยืน
การเข้าร่วมงาน ASEW 2025 ของ มจธ. ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพและความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมที่ยั่งยืน ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและภูมิภาคต่อไป