ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการตรวจวินิจฉัยในช่องท้อง หวังเพิ่มการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ยกระดับศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ หลังพบผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเพิ่มขึ้น

ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก มุ่งมั่นที่จะนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ช่วยดูแลสุขภาพของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง จึงได้ร่วมสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการด้านรังสีวิทยาในงาน "CMU-PSU Abdominal Radiology Collaboration Meeting 2025" ซึ่งเป็นการประชุมด้านวิชาการทางการแพทย์ที่จัดโดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และอัพเดทความก้าวหน้าด้านการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาโดยเฉพาะโรคในช่องท้องให้กับบุคลากรทางการแพทย์จากทั่วประเทศ
เนื่องจากปัจจุบันโรคมะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทยและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์พบว่าแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับกว่า 16,000 ราย และเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ โรคมะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อตับ ซึ่งเกิดจากเซลล์ตับที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกร้าย เรียกว่า มะเร็งเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma) ซึ่งสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจนเกิดภาวะตับแข็ง โรคอ้วนและภาวะไขมันพอกตับ ตับอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิตนเอง และโรคตับคั่งน้ำดี ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะแรกมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่หากก้อนเนื้อร้ายใหญ่ขึ้น จะมีอาการปวดจุกบริเวณชายโครงขวาหรือช่องท้องส่วนบน มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ท้องโต ขาบวม ปัสสาวะมีเหลืองเข้ม ตาและตัวเหลือง หรือดีซ่าน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวุฒ ทับทวี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวินิจฉัยช่องท้อง จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า "สำหรับในภาคใต้ เราพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งตับเพิ่มมากขึ้นมาเรื่อยๆ จากการศึกษาของคุณสีใส ยี่สุ่นแสงคาดว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งตับในสงขลาจะเพิ่มมากขึ้น โดยในเพศชายจะพบเซลล์มะเร็งตับประมาณ 6.7คน ต่อแสนคน และมะเร็งทางเดินน้ำดีประมาณ 9.4 คนต่อแสนคนในปีค.ศ. 2030 ส่วนในเพศหญิง จะพบเซลล์มะเร็งตับประมาณ 1.5 คนต่อแสนคน และ มะเร็งทางเดินน้ำดีประมาณ 3.9 คนต่อแสนคน ปัญหาของโรคมะเร็งตับที่เราพบมาก คือ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาตรวจเมื่อแสดงอาการและตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะลุกลามแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่ในระยะแรกของโรค มักไม่มีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยจะมาตรวจเมื่อมีอาการปวดท้องไม่หายและมักตรวจพบเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือเป็นมะเร็งในระยะลุกลาม ซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง เราจึงอยากรณรงค์ให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง หรือมีอายุเพิ่มมากขึ้น เข้ารับการตรวจคัดกรองมากขึ้น ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับสามารถทำได้ด้วยการทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ควบคู่กับการตรวจเลือดวัดระดับ alfa-fetoprotein (AFP) หากพบความผิดปกติ แพทย์จะส่งตรวจภาพรังสีวินิจฉัยของตับเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computed tomography: CT) หรือภาพเสียงสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging: MRI) เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และอาจจะต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางด้านพยาธิวิทยาในบางราย ซึ่งหากเราสามารถคัดกรองผู้ป่วยได้เร็ว หรือวินิจฉัยโรคมะเร็งตับได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีอาการลุกลาม จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาน้อยลง"
"สำหรับการจัดงานประชุมทางวิชาการในครั้งนี้ เราก็คาดหวังว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาในช่องท้องกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มาจากทั่วประเทศ และผู้เข้าร่วมจะสามารถนำความรู้จากงาน ประชุมในครั้งนี้กลับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยได้ เนื่องจากความชุกของโรคแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน การจัดประชุมสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแบบนี้ก็จะเป็นการแชร์ข้อมูลของแต่ละพื้นที่ แต่ละเคสที่เจอที่แตกต่างกันได้ เพราะนอกจากโรคมะเร็งตับที่อาจจะพบมากทางภาคใต้ แต่ก็ยังมีโรคในช่องท้องอื่นๆ อีกที่เราสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ อาทิ มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต เป็นต้น นอกจากนี้ความร่วมมือของเรากับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในครั้งนี้ ยังหวังเพื่อเป็นการกระจายความรู้ในการคัดกรองผู้ป่วยเริ่มต้นไปยังหน่วยพยาบาลปฐมภูมิและทุติยภูมิในภาคเหนือและภาคใต้ เพราะหน่วยพยาบาลปฐมภูมิและทุติยภูมิมักไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ยังสามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นได้ด้วยการเจาะเลือดและทำอัลตราซาวด์ ก็จะสามารถตรวจพบผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นได้ " ผศ.นพ. ธีระวุฒ กล่าวเสริม
นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า "ฟิลิปส์ เราได้นำเสนอนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาที่มีประสิทธิภาพ ทั้งเครื่อง อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และเครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่แหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยมีทั้งเทคโนโลยีเอกสิทธิ์เฉพาะของฟิลิปส์ที่ช่วยให้ภาพคมชัดยิ่งขึ้น เทคโนโลยีที่ช่วยลดการฉีดสารทึบสี และการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากขึ้น เมื่อเราเป็นผู้นำตลาดในด้านนี้ เราจึงเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไปพร้อมๆ กัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย และยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราในการเพิ่มการเข้าถึงระบบสาธารณสุขให้กับผู้ป่วยอีกด้วย เพื่อให้ผลลัพธ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเข้ารับการตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันก็สำคัญเช่นกัน โดยหลักๆ ก็คือ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารมัน ทอด หวาน เพื่อลดเสี่ยงโรคอ้วน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือหากพบความผิดปกติก็รีบปรึกษาแพทย์ เพียงเท่านี้ เราก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรงและสามารถลดความรุนแรงของโรคได้