ร.พ.นพรัตนราชธานี เปิดศูนย์ดูแลผู้บาดเจ็บจากการถูกความร้อนอย่างครบวงจร

22 Sep 1997

กรุงเทพ--22 ก.ย.--กระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดศูนย์ดูแลผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก นับเป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้บริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว พร้อมพัฒนาให้เป็นต้นแบบของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ

วันนี้ (22 กันยายน 2540) เวลา 9.00 น. พลเรือตรีนายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดศูนย์การดูแลผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กทม. และให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาการบาดเจ็บจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก นับเป็นอุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายกับผิวหนังโดยตรง มีผลทำให้เกิดปัญหาการเสียโฉมและความพิการได้ หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้แผลไฟไหม้ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากความร้อนแห้ง ได้แก่เปลวไฟไหม้ สารเคมีระเบิด รองลงมาคือการถูกน้ำร้อนลวก และถูกไฟฟ้าช็อต โดยหากมีแผลไหม้เกิน 60% ของผิวหนังทั้งหมด จะมีอัตราตายสูง ในปีที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ประมาณ 40,000 ราย

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก ภายใน 24 ชั่วโมงแรกจำเป็นต้องให้การดูแลรักษาเป็นกรณีพิเศษกว่าอุบัติเหตุอื่น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในร่างกายรวดเร็ว มีภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าการบาดเจ็บชนิดอื่น กล่าวคือจะติดเชื้อง่าย เนื่องจากผิวหนังถูกทำลาย ซึ่งที่ผ่านมานั้นการดูแลผู้ป่วยดังกล่าวที่กระทรวงสาธารณสุขจัดบริการ ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดห้องแยกให้เท่านั้น ยังไม่มีศูนย์ดูแลต้นแบบรองรับปัญหาดังกล่าว ดังนั้นจึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชานเมืองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของกทม.และอยู่ในย่านอุตสาหกรรม นอกจากจะเป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์แล้ว ยังให้มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากไฟไหม้น้ำร้อนลวกด้วย เพื่อให้งานบริการครอบคลุมยิ่งขึ้น

ทางด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า ในการจัดศูนย์ดูแลผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกนี้ ได้เน้นที่การจัดบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ซึ่งยังไม่เคยมีมาก่อนในกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่แรกรับ จนกระทั่งอาการหายเป็นปกติ ใช้พื้นที่ 1104 ตารางเมตร ซึ่งภายในห้องจะมีการควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด ศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วยห้องผู้ป่วย ห้องผ่าตัด ห้องทำกายภาพบำบัด ห้องชำระล้างแผลที่ทันสมัย โดยมีเตียงรับผู้ป่วยได้ 7 เตียง เมื่อผู้ป่วยได้รับการบำบัดอย่างครบวงจร จะมีความมั่นใจในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นใจและมีความสุข ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2540 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันได้ให้การรักษาผู้ป่วยแล้ว 204 ราย โดย 1 ใน 3 รายผู้ป่วยบาดเจ็บจากการถูกไฟฟ้าช็อต รองลงมาคือถูกน้ำร้อนลวก

นายแพทย์ชาตรี กล่าวต่อไปว่า ในการดูแลผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้และน้ำร้อนลวก โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้จัดให้มีการฟื้นฟูทางวิชาการแก่เจ้าหน้าที่ทุกระดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของทีมงานเป็นประจำทุกเดือน ทั้งเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางระดับชาติ ที่มีความเป็นเลิศในการดูแลผู้ป่วยประเภทนี้ พร้อมที่จะเป็นต้นแบบขยายเทคนิคการดูแลที่ได้มาตรฐาน ให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศต่อไปในอนาคต--จบ--