ผอ.ไอเอฟดีแนะหยุดสร้างความแตกแยกหวั่นเศรษฐกิจใกล้ล่มเต็มที

30 Oct 1997

กรุงเทพ--30 ต.ค.--สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา

เกรงความแตกแยกยิ่งเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจของชาติพังเร็วขึ้น นักการเมืองไม่ควรตีรวนรัฐบาล ควรใช้โอกาสนี้เตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ และให้อิสระแก่รมว.คนนอกในการตัดสินใจ รวมทั้งประชาชนควรให้ความร่วมมือเพราะอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการบางอย่างของรัฐ เช่น การตัดสินใจขึ้นภาษีน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง จึงต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันอย่างเต็มที่

ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) วิตกว่าความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และภายในพรรคความหวังใหม่ เกี่ยวกับความไม่พอใจในการปรับคณะรัฐมนตรี อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นจากต่างประเทศอย่างรุนแรง เกรงการเมืองจะบีบให้นายกลาออกโดยผิดวิธี เช่นการที่ชาติพัฒนาอาจบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออกในการเปิดสภาสมัยวิสามัญในสัปดาห์หน้า ด้วยการคว่ำพระราชกำหนดเกี่ยวกับการแก้ไขสถาบันการเงิน 6 ฉบับที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งจะเป็นเหตุให้คนทั้งประเทศพลอยรับผลกระทบไปด้วย จากการที่ต่างประเทศนำเงินออกจากการไม่ต่ออายุหนี้ระยะสั้นของภาคเอกชนจำนวน 37,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะครบกำหนดในอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องในประเทศมีปัญหามาก รวมทั้งไอเอ็มเอฟอาจพิจารณายุติการให้กู้ในงวดต่อไป เพราะการเมืองขาดเสถียรภาพอย่างรุนแรง

"นอกจากนี้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนอาจต้องได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งประชาชนควรให้ความร่วมมือและพิจารณาด้วยเหตุผล อย่าใช้อารมณ์หรือใช้การต่อต้านที่รุนแรงโดยเชื่อมั่นในการตัดสินใจของรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น หากรัฐไม่สามารถหารายได้อื่นมาชดเชยการขึ้นภาษีน้ำมันได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ต้องเร่งจัดทำงบประมาณให้เกินดุล 1% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำให้มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องมีการขึ้นภาษีน้ำมันลิตรละ 1 บาท ประชาชนและนักการเมืองไม่ควรเข้ามากดดัน แต่ควรพิจารณาเปรียบเทียบผลดีผลเสียระยะยาวที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติเป็นหลัก"

ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อยากให้ทุกฝ่ายเอาปัญหาเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง ขณะนี้เราเข้าใกล้จุดเดือดแห่งความล่มสลายทางเศรษฐกิจเข้าไปทุกที หากทุกฝ่ายยังคงเห็นแก่ตัว มุ่งเพียงรักษาผลประโยชน์ส่วนตัว ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายตนเองด้วยในที่สุด รัฐจำเป็นต้องปล่อยให้ผู้รับผิดชอบปัญหาเศรษฐกิจตัดสินใจโดยไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง นักการเมืองควรที่จะมุ่งในการหาเสียงเลือกตั้งใหม่มากกว่าที่จะสร้างความแตกแยกระหว่างกันในพรรคการเมือง ซึ่งจะยิ่งเป็นการบีบคั้นให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น รวมทั้งประชาชนต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่า การตัดสินใจบางประการของรัฐ ประชาชนต้องได้รับผลกระทบด้วย การไม่ให้ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจล่มสลายได้เร็วขึ้น

"ในยามนี้ถ้าเราเอาตัวรอดคนเดียวจะเป็นปัญหา ผมอยากให้ทุกคนคิดว่า "อะไรที่ดีสำหรับสังคม สิ่งนั้นจะย้อนกลับมาดีสำหรับเราเองด้วย" ผมจึงอยากให้ทุกฝ่ายมองส่วนรวมเป็นที่ตั้ง อย่ามีอคติว่าเราเสียประโยชน์ เราได้ประโยชน์ เลิกมองกันในแง่ร้าย เลิกหาทางบั่นทอนกัน หรือมองกันในมุมที่หวาดระแวง อย่าแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย แต่หันหน้าเข้าหากัน โดยตระหนักว่าเราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เมื่อน้ำเข้าเรือ เราทุกคนต้องช่วยกันตักน้ำออกจากเรือ แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนที่ทำให้เรือรั่วก็ตาม เราควรร่วมกันใช้สติปัญญาแก้ปัญหา ด้วยความหวังดีต่อกัน อยากให้เราเองยอมรับความแตกต่าง แต่ยังมีความเป็นเอกภาพได้ครับ"

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณจงกลณี กันทะนะ โทร.381-5366-7 (อัตโนมัติ)โทรสาร 381-5368--จบ--

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit