กรุงเทพ--21 ต.ค.--สศช.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายภิรมย์ศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้การต้อนรับคณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันอาณาจักรอินเดีย จำนวน 15 คน ในโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายสรุป ณ สศช.
นายภิรมย์ศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ได้กล่าวบรรบายสรุปถึงภารกิจของ สศช. ว่าภารกิจหลักของ สศช. คือการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางในการพัฒนาประเทศโดยมีการจัดทำแผนพัฒนาประเทศมาแล้วทั้งสิ้นรวม 8 ฉบับ ซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) นอกจากนี้แล้ว สศช.ยังมีหน้าที่อื่นอีก ได้แก่ ศึกษา วิเคราะห์ สภาวะเศรษฐกิจสังคมสำหรับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิเคราะห์ ประเมินโครงการพัฒนาของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ติดตามประเมินผล แผนงาน โครงการพัฒนาของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบาย แนวทางและมาตรการทางเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน ได้กล่าวถึงผลของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้ให้ความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และถือว่าคนเป็นเพียงปัจจัยในการผลิตโดยไม่ได้ให้ความสำคัญในด้านคุณภาพชีวิตของคนเท่าที่ควร การพัฒนายังเป็นการพัฒนาในลักษณะแยกส่วนหรือรายสาขา ซึ่งแม้ว่าการพัฒนาจะประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น การกระจายรายได้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งปัจจุบันเหล่านี้ส่งผลให้การพัฒนาประเทศไม่สามารถเกิดความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องได้
นอกจากนี้ในระยะที่ผ่านมาการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งได้ใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ยังจำกัดเฉพาะภาคราชการและภาคเอกชนบางกลุ่มเท่านั้น กลุ่มประชาชนอาชีพต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำแผนค่อนข้างไม่ทั่วถึง ทำให้การพัฒนาที่ผ่านมาไม่สามารถตอบสนองความต้องการ รวมทั้งไม่สามารถสร้างโอกาสและความเป็นธรรมต่อทุกกลุ่มคนและทุกพื้นที่ของประเทศได้อย่างทั่วถึง
นายภิรมย์ศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ กล่าวต่อไปว่า ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 สำนักงานฯ ได้ปรับกระบวนการวางแผนพัฒนาประเทศใหม่โดยให้คนทุกกลุ่มในสังคมจากทุกสาขาอาชีพและทุกภูมิภาค ทั้งภาคเอกชน ธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักการเมือง สถาบันศาสนา และประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางการพัมนาของประเทศในอนาคตอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ การพัฒนาประเทศในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ยังได้ปรับแนวคิดและทิศทางการพัฒนาใหม่ที่ให้คนเป็นศูนย์กลางหรือจุดหมายหลักของการพัฒนา ผลจากการปรับเปลี่ยนแนวความคิดและกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ดังกล่าว นับว่าเป็น "มิติใหม่ของการพัฒนา" ซึ่งทำให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมไทยมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ ของการจัดทำแผนพัฒนาฯ ของประเทศไทย
ในโอกาสเดียวกันนี้คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันอาณาจักรอินเดียได้กล่าวแสดงความสนใจในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย และได้ชี้ถึงประเด็นการพัมนาความร่วมมือของอินเดียและไทยว่า นับตั้งแต่อินเดียได้เปิดระบบเศรษฐกิจและตลาดภายในประเทศอย่างเสรีมานับแต่ปี 2534 โดยรัฐบาลอินเดียมุ่งสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ผลของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจภายในของอินเดียดังกล่าวได้ส่งผลให้ปริมาณการค้าระหว่างอินเดียกับไทยในปี 2534 มีมูลค่าสูงถึง 1000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
นายภิรมย์ศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ ได้กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า ปัจจุบันไทยมีนโยบาย Look West โดยมุ่งแสวงหาทางบุกเบิกตลาดการค้าและการลงทุนในอนุทวีป เพื่อเชื่อมภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้ด้วยกันซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ อินเดียได้ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพ เพื่อก่อตั้งความร่วงมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างบังกลาเทศ-อินเดีย-ศรีลังกา และไทย หรือ BIST-EC ซึ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบ BIST-EC ดังกล่าวนับว่าภูมิภาคเอเซียใต้ และต่ออินเดีย ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่างอินเดียและไทยให้มากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย--จบ--