กรุงเทพ--7 ส.ค.--สำนักงานเขตกรุงเทพ
ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) วันที่ 6 ส.ค. 40 เวลา 09.00 น. ได้มีการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับโครงการสร้างหอศิลปะร่วมสมัยแห่งกทม. โดยมี รศ.ประภาภัทร นิยม รองผู้ว่าฯ กทม. นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานกรรมการที่ปรึกษาด้าน คุณภาพชีวิตของผู้ว่าฯ กทม. ผศ.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย ประธานกรรมการที่ปรึกษาด้านผังเมืองของผู้ว่าฯ กทม. นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และนายประเสริฐ โตเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กทม.ร่วมชี้แจงแก่บริษัทและผู้สนใจประมาณ 30 ราย
รองผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า แนวความคิดหลายประเด็นที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ กทม.จะนำมาเพิ่มเติมในร่างเงื่อนไขรายละเอียด (TOR) ที่ออกประกาศไปแล้ว ดังนี้
1. คุณสมบัติของผู้เข้าประกวดแบบ ซึ่ง กทม. ได้กำหนดและประกาศไปแล้ว ยังมีในบางประเด็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวคือ ตามที่ กทม. ได้ระบุให้ผู้ที่ออกแบบและมีผลงานอาคารด้านศิลปวัฒนธรรมและการศึกษา ซึ่งมีค่าก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทนั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่มีผู้ที่ออกแบบด้านนี้โดยเฉพาะ และมูลค่าเท่านั้น จึงได้มีผู้ขอให้ตัดข้อความดังกล่าวออก ซึ่ง กทม. ก็ยินดีตัดออกให้ แล้วเปลี่ยนเป็นผู้มีประสบการณ์ออกแบบอาคารสาธารณะทั่วไป
2. กทม. มีความประสงค์ให้ผู้สนใจในระดับกว้าง ๆ โดยทั่วไปมาร่วมประกวดแนวความคิดในการออกแบบหอศิลปะร่วมสมัยแห่งกทม. ในวันที่ 1 ก.ย. 40 ก่อนที่จะมีการประกวดแบบจริง ในการนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบว่า นอกเหนือจากสถาปนิก อาจจะเป็นศิลปิน มัณทนากร ผู้อยู่ในแวดวงศิลปะ ฯลฯ ที่มีความกระตือรือล้นมาให้แนวความคิดเห็นในรูปแบบที่เป็นจริงได้ นอกจากนี้อาจจะต้องมีการพิจารณาขยายเวลาส่งแบบแนวคิดด้วย โดยประกาศลงในสื่อต่าง ๆ ซึ่งการขยายเวลาจะมีผลกระทบกับงบประมาณที่ใช้ ดังนั้นกทม.จะได้พิจารณาหาทางแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป
3. กทม. ต้องการทีมงานที่ปรึกษา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ สำหรับให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มกำหนด TOR เพื่อให้อาคารมีความละเอียด ดังนั้นหากมีผู้สนใจขอได้โปรดแสดงความจำนงที่โทรสารหมายเลข 224-2957 กทม. จะได้ติดต่อไปยังบุคคลต่าง ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญอีกครั้งหนึ่ง
4. ตามข้อบัญญัติของอาคารสาธารณะระบุว่าต้องมีที่จอดรถในอาคารที่สาธารณะด้วย ซึ่งจะทำให้งบประมาณของหอศิลปะสูง เนื่องจากพื้นที่หอศิลปะมีประมาณ 2 ไร่เศษ อย่างไรก็ตามหลายท่านได้แสดงความคิดว่าไม่อยากให้นำรถเข้ามา เพราะจะมีระบบขนส่งมวลชนผ่านหอศิลปะ 2 เส้นทาง เรื่องนี้กม.จะได้พิจารณาปรับข้อบัญญัติว่ามีช่องทางใดบ้างที่จะลดพื้นที่จอดรถลง
5. กรรมการตัดสินการประกวดแบบ ขอให้เป็นที่ยอมรับของศิลปิน สถาปนิก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีผู้ส่งประกวดมาก ๆ ซึ่งกทม.รับว่าจะพยายามเชิญบุคคลดังกล่าวมาเป็นกรรมการ
6. กทม.จะขอข้อมูลเบื้องต้นจากบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปใส่ลงใน TOR ด้วย รวมทั้งที่ประชุมได้ให้ กทม. ยืนยันงบประมาณที่แน่นอน ซึ่งในชั้นต้น กทม.ระบุไว้ 200 ล้านบาท และจะได้ทำความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พูดถึงกำหนดระยะเวลาของการส่งแบบเข้าประกวด ซึ่งกทม.ได้มีการขยายเวลาเป็นวันพุธที่ 10 ก.ย. 40 เวลา 09.30-11.30 น. แต่ได้มีผู้เสนอให้ขยายเป็น 3 เดือน ตรงนี้คนรับจะไปปรึกษากับทีมงานที่ปรึกษาฯ ก่อน--จบ--