กรุงเทพ--20 ม.ค.--แพ็คลิ้งค์
บริษัท แพ็คลิ้งค์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุ่มทุนกว่า 100 ล้านบาท เพิ่มคลี่นความถี่ที่ 7 พร้อมเผยกลยุทธ์ปี 2541 จัดแคมเปญเอาใจวัยรุ่น รักษาฐานลูกค้าเก่า
นายสุธี พูนศรีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพ็คลิ้งค์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีนโยบายการลงทุนในปี 2541 ทางด้านการเพิ่มคลี่นความถี่ที่ 7 จากปัจจุบันที่มีคลี่นความถี่ทั้งหมด 6 คลี่นความถี่ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณการลงทุนในครั้งนี้สูงกว่า 100 ล้านบาท
"สาเหตุที่ลงทุนเพิ่มคลี่นความถี่ที่ 7 เนื่องจากเป็นการรองรับปริมาณเครื่องลูกข่ายในอนาคต โดยคาดว่าจะขออนุมัติคลื่นความถี่จากกรมไปรษณีย์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2541" นายสุธีกล่าว
กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่านโยบายการทำตลาดของบริษัทฯ จะพยายามรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ และคาดว่าปริมาณยอดจำหน่ายของวิทยุติดตามตัวโดยรวมในปี 2541 จะตกลงจากเดิม 20% เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ตลาดหดตัวลงและผู้ผลิตขึ้นราคาเครื่องเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าจำนวนผู้ใช้บริการแพ็คลิ้งค์จะอยู่ในอัตราคงที่ "ไม่เพิ่มไม่ลดลง" เพราะจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทฯ จะใช้กลยุทธ์ในการกระตุ้นยอดขายด้วยการจัดแคมเปญอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจะเน้นแคมเปญให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าหลักโดยตรง ได้แก่วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา วัยทำงานตอนต้น เช่นเมื่อปลายปีที่ผ่านมาแพ็คลิ้งค์ได้จัดแคมเปญสนับสนุนศิลปิน คริสตินนักร้องวัยรุ่น จาก บริษัท เบเกอรี่ มิวสิค จำกัด ด้วยการออกจำหน่ายวิทยุติดตามตัวฟังค์กี้รุ่นคริสติน เพื่อเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะ ด้วยขนาดที่เล็กดีไซน์สวยงามและสีสันสดใสสะดุดตา ซึ่งจำหน่ายหมด 2,000 เครื่อง ภายในเวลาอันรวดเร็ว
สำหรับในปี 2540 บริษัทฯ มีจำนวนผู้ใช้บริการแพ็คลิ้งค์ ประมาณ 230,000 เครื่องหรือมีส่วนแบ่งในตลาด 20% จากตลาดรวมของวิทยุติดตามตัวในไทยทั้งหมดราว 1,200,000 เครื่อง
นายสุธี กล่าวต่อว่า แนวทางของแพ็คลิ้งค์ ในยุคที่ค่าเงินบาทดิ่งเหวอย่างขณะนี้คือจะพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายทุกด้านเท่าที่จะประหยัดได้ เพื่อความอยู่รอดของบริษัท และพนักงานแพ็คลิ้งค์ทุกคน
นอกจากนี้งบประมาณ สำหรับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์จะใช้อย่างรอบคอบที่สุด โดยจะเน้นสื่อที่ตรงกลุ่มเป้าหมายของบริษัทฯโดยเฉพาะเท่านั้น ซึ่งจากการวิจัยการตลาดพบว่าสื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ สื่อวิทยุ
ทั้งนี้นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศให้สภาวะค่าเงินบาทลอยตัวเป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯพอสมควร โดยมีปริมาณลูกค้าที่หยุดใช้บริการ (CHURN RATE) ในอัตราเฉลี่ย 2% ต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าองค์กรที่ต้องปิดกิจการลงตามสภาวะเศรษฐกิจ
สำหรับองค์ประกอบสำคัญที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของตลาดวิทยุติดตามตัวคือ ราคาต้นทุนของเครื่องลูกข่ายซึ่งกำหนด โดยผู้ผลิตจากต่างประเทศและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำตลาดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์พื้นฐานแบบพกพาซึ่งทั้ง 2 องค์ประกอบนี้จะมีผลต่อกำลังซื้อของผู้ใช้วิทยุติดตามตัวในอนาคตไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้ว ความต้องการในการใช้วิทยุติดตามตัวในไทย ยังคงอยู่ในระดับสูงเพราะปัจจุบันวิทยุติดตามตัวกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็น มากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือยหรือใช้เฉพาะในธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น--จบ--