โรงพยาบาลน้ำพองแก้ปัญหาขาดแพทย์เฉพาะทาง ช่วยผู้สูงอายุให้ได้รักษาใกล้บ้าน

08 Jan 1998

กรุงเทพ--8 ม.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลน้ำพองซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง สามารถแก้ปัญหาขาดแพทย์เฉพาะทางโรคตา โรคหัวใจ โรคกระดูก และโรคหอบหืด โดยจัดหาแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ หมุนเวียนไปบริการประชาชนในพื้นที่ ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลใกล้บ้าน

นายธีระวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ทำให้ทราบว่า ขณะนี้โรงพยาบาลของรัฐทุกระดับกำลังพยายามยกระดับมาตรฐานการบริการ เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน ซึ่งโรงพยาบาลน้ำพองก็เป็นตัวอย่างที่ดีโรงพยาบาลหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพในการรักษาพยาบาล จนทำให้ประชาชนกว่าร้อยละ 90 รู้สึกพึงพอใจต่อการบริการของโรงพยาบาล โดยเฉพาะการเปิดให้บริการคลินิคพิเศษโรคเฉพาะทาง ซึ่งแต่เดิมผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น หรือ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีปัญหาการเดินทางไม่สะดวก จึงขาดการรักษาบ่อยครั้ง เป็นผลเสียตัวผู้ป่วยเอง ทางโรงพยาบาลน้ำพอง จึงได้เปิด คลินิคพิเศษโรคตา โรคหัวใจ โรคกระดูก และโรคหอบหืด ขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา และจัดหาแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์มาให้บริการที่โรงพยาบาลเดือนละ 2 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวก และช่วยให้ประหยัดทั้งค่ารักษา และค่าเดินทาง

นายแพทย์ วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง กล่าวว่า นอกจากคลินิคพิเศษโรคเฉพาะทางแล้ว ทางโรงพยาบาลน้ำพองยังมีการพัฒนาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ และสิ่งสำคัญคือ การพัฒนาบุคคลากรทุกระดับ ให้มีจิตใจแห่งการให้บริการ สร้างความประทับใจแก่ผู้ป่วยและญาติ ซึ่งการพัฒนาทุกอย่างจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากพอสมควร แต่ทางโรงพยาบาลน้ำพองสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณได้โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของประชาชน ข้าราชการ กลุ่มผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมใจกันบริจาคเงินเข้าเป็นกองทุนของมูลนิธิน้ำพองพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งขณะนี้มีเงินกองทุนแล้วกว่า 3 ล้านบาท และนำดอกผลจากกองทุนมาใช้ในการพัฒนาโรงพยาบาล ทั้งการสงเคราะห์ผู้ป่วยที่ยากไร้ และพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนในอำเภอน้ำพองได้รับบริการที่มีคุณภาพ อันจะช่วยให้ให้ประชาชนมีสุขภาพดีด้วยต้นทุนที่ต่ำ

ผลจากการพัฒนา นอกจากประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงแล้ว บุคลากรของโรงพยาบาลยังมีขวัญกำลังใจในการปฎิบัติงาน เนื่องจากบรรยากาศในการทำงานดีขึ้น ช่วยลดปัญหาการโยกย้ายของเจ้าหน้าที่ และการที่มีแพทย์เฉพาะทางมาปฎิบัติงานที่โรงพยาบาล ทำให้แพทย์จบใหม่ที่อยู่ประจำโรงพยาบาลมีโอกาสพัฒนาความรู้ และทักษะต่าง ๆ ช่วยให้แพทย์เหล่านี้ มีกำลังใจที่จะอยู่ในชนบทได้นานขึ้นกว่าเดิม นายแพทย์วิชัย กล่าว--จบ--