"สวนดุสิตโพล" ชี้ต้องปรับปรุงคุณภาพการศึกษาไทยโดยด่วน

08 Jan 1998

กรุงเทพ--8 ม.ค.--สกศ.

ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ได้ร่วมกับ "สวนดุสิตโพล" ทำการสำรวจข้อมูลการศึกษาทั่วประเทศ จากผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ประถม-มัธยม ผู้ปกครองและเจ้าของสถานประกอบการ จำนวน 5,574 คน จาก จังหวัดกลุ่มตัวแทนทุกภาค 10 จังหวัด พบว่า

ผู้เรียนจบชั้นประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นที่ออกไปทำงานยังมีคุณภาพต่ำ ปัญหาที่นักเรียนประสบในปัจจุบันคือ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจและไม่ชอบครู ไม่รู้สึกอยากเรียนและไม่มีความสุขกับการเรียน (ประถมร้อยละ 27) นักเรียนมัธยมไม่ชอบผู้บริหารโรงเรียนร้อยละ 56 วิธีสอนของครูไม่น่าสนใจ โดยเฉพาะวิธีการสอนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่ยังเป็นวิธีการสอนแบบเก่า คือ ครูอธิบายให้นักเรียนฟัง โดยมิได้ให้นักเรียนได้แสดงความคิดหรือหาเหตุผลในการคิดมาประกอบการเรียน ขาดการทดลองที่เห็นจริง ขาดสื่อความคิดที่สามารถพัฒนาวิธีการเรียนการสอนอย่างมีเหตุผลเพื่อความเข้าใจตามหลักวิชาการ (ใช้วิธีการสอนแบบอธิบายร้อยละ 34)

ปัญหาการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พบว่า นักเรียนประถมไม่สนใจเรียนวิชาดังกล่าวถึงร้อยละ 32 ส่วนนักเรียนมัธยมไม่สนใจเรียนคณิตศาสตร์ถึงร้อยละ 57 และวิทยาศาสตร์ถึงร้อยละ 40 นักเรียนให้เหตุผลที่ไม่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ว่า เพราะครูสอนไม่เข้าใจ ไม่มีการทดลอง ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่อยากเรียนเพราะยาก ไม่ชอบคำนวณ สิ่งที่น่าสังเกตคือผู้บริหารโรงเรียนกลับเห็นว่า ไม่มีปัญหาด้านการสอนวิชาดังกล่าว ถึงร้อยละ 31 โดยเฉพาะใน กทม. มีจำนวนถึงร้อยละ 41

ด้านคุณภาพของครูผู้สอน จะต้องเร่งแก้ไขและปรับปรุงโดยด่วน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่โยงมาสู่คุณภาพของผู้เรียนที่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขด้วย กล่าวคือ ครูยังไม่เอาใจใส่และให้ความรักเด็กมากพอ ซึ่งผลการปฏิบัติเช่นนี้ จะส่งเสริมต่อการพัฒนาเด็กทั้งด้านความรู้และคุณลักษณะที่ดีในอนาคต นอกจากนี้ปัจจุบันครูส่วนใหญ่ขาดการฝึกอบรมและพัฒนาด้านการสอน ได้รับการฝึกอบรมค่อนข้างน้อย (ร้อยละ 42) และครูส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 20) ไม่ต้องการเป็นครู เนื่องจากมีรายได้น้อย และงานหนัก

การมีส่วนร่วมของชุมชน พบว่า มีสถานศึกษาร้อยละ 40 ให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ผู้ปกครองนักเรียนประมาณร้อยละ 35 ไม่รู้จักหลักสูตรท้องถิ่น การดำเนินงานให้ชุมชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษา จึงจัดทำได้ค่อนข้างน้อย การดำเนินงานในโรงเรียนทางภาคเหนือมีผู้ปกครองเข้ามาร่วมดำเนินงาน มากกว่าภาคอื่น ๆ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก

ผลการสำรวจดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จะได้นำมาจัดทำข้อเสนอแนะด้านนโยบายเพื่อปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาโดยด่วนต่อไป--จบ--