กรุงเทพ--14 พ.ย.--สภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดแถลงข่าว "การประชุมการจัดหาผู้บริจาคโลหิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ครั้งที่ 1 (The First Asia-Pacific Conference on Donor Recruitment and Donor Retention) หรือ The 1st APCDR จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน 2540 ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค โดยมีนายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานแถลงข่าว ร่วมด้วย ศ.นพ.ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและประธานคณะกรรมการจัดประชุมฯ, นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานการประชุมฯภาคเอกชน, และศ.พญ.พิมล เชี่ยวศิลป์ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการประชุมด้านการจัดหาผู้บริจาคโลหิตที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวถึงบทบาทของสภากาชาดไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในแถบเอเชีย ในเรื่องเกี่ยวกับงานบริการโลหิตว่า ที่ผ่านมานั้นประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้มีการพัฒนางานบริการโลหิตในด้านต่าง ๆ โดยได้มีการจัดประชุมเรื่องต่าง ๆ ขึ้นหลายครั้ง เพื่อพัฒนางานด้านนี้ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อาทิ การประชุมระหว่างสภากาชาดญี่ปุ่น และสภากาชาดไทย เรื่อง "ความปลอดภัยของโลหิตเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล" เมื่อปี 1995 ที่กรุงเทพฯ และที่สำคัญคือ การที่สภากาชาดไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำสภากาชาดในอาเซียน เมื่อปี 2539 ได้มอบหมายให้เป็นแกนนำเพื่อหาความช่วยเหลือด้านงานบริการโลหิตในภูมิภาคนี้ ดังนั้น การจัดประชุมการจัดหาผู้บริจาคโลหิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 1 จึงเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และแสวงหาความร่วมมือในเรื่องนี้
ศ.นพ.ชัยเวช นุชประยูร ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตฯ และประธานคณะกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวถึง วัตถุประสงค์ และความเป็นมาของการจัดประชุม The 1st APCDR ว่า สำหรับแนวคิดในการจัดประชุม เรื่องการจัดหาผู้บริจาคโลหิตในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจากการที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้จัดประชุมระดับชาติเรื่องการจัดหาผู้บริจาคโลหิต ต่อเนื่องมา 4 ปี ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2539 ณ บริษัท ไทยประกันชีวิต เมื่อได้มีการประเมินผลในการจัดประชุม ปรากฎว่า ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการประชุมรูปแบบเช่นนี้อีก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดหาผู้บริจาคโลหิต หรือธนาคารเลือด ได้มาแสดงแนวความคิด หรือนำเสนอผลงานของหน่วยงานที่ตนได้ดำเนินการ ประกอบกับปัญหางานบริการโลหิตที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียประสบปัญหาอยู่ มีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ปัญหาในการจัดหาโลหิตไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องของโรคเอดส์ การขาดความรู้เรื่องของการบริจาคโลหิตด้วยยังมีทัศนคติ และความเชื่อผิด ๆ อยู่ ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้มีการดำเนินงานเป็นแนวทางแก้ไขในรูปแบบต่าง ๆ กัน จึงเห็นควรให้มีการจัดประชุมเกี่ยวกับเรื่องการจัดหาผู้บริจาคโลหิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานด้านการจัดหาผู้บริจาคโลหิต ได้นำเสนอแนวทางและส่งเสริมผู้ที่ทำงานด้านการจัดหาผู้บริจาคโลหิตได้อย่างกว้างขวาง ตลอดจนเผยแพร่กลยุทธ์ วิธีการต่าง ๆ รวมทั้งงานด้านบริหารจัดการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงตามสภาพสังคม และวัฒนธรรมของประเทศนั้น การประชุมนี้ประกอบด้วยผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชียแปซิฟิก เหล่ากาชาดจังหวัด เจ้าหน้าที่ธนาคารเลือด เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านการจัดหาผู้บริจาคโลหิตจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ จำนวนกว่า 200 คน คาดว่าผลที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้จะทำให้ประเทศในภูมิภาคนี้ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ในรูปแบบที่หลากหลาย รับทราบถึงวิธีการ กลยุทธ์ในการจัดการต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป เพื่อให้ได้โลหิตที่มีคุณภาพเพียงพอ และปลอดภัย
นายวัลลภ เจียรวนนท์ ประธานการประชุมฯ ภาคเอกชน ได้กล่าวถึง บทบาทของภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาผู้บริจาคโลหิตว่า ได้ทราบว่างานด้านการจัดหาผู้บริจาคโลหิตนั้นเป็นงานสำคัญอันดับแรกของงานบริการโลหิต ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย รับผิดชอบอยู่ แต่ลำพังสภากาชาดไทยนั้นคงมีขีดจำกัดอยู่พอสมควร ประกอบกับงานสาธารณสุขลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต และการรณรงค์ในเรื่องการจัดหาผู้บริจาคโลหิต จนทำให้จำนวนผู้บริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชนคงจะได้รับทราบข้อมูล ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนางานด้านการจัดหาผู้บริจาคโลหิตในหน่วยงานของตนเองต่อไป
ศ.พญ.พิมล เชี่ยวศิลป์ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ เปิดเผยถึงการประชุม The 1st APCDR มีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ปาฐกถาเกียรติยศ ที่เรียกว่า Keynote Speech ในเรื่องของ "คุณภาพและความปลอดภัยของโลหิตในยุค คศ.2000" (Quality and Safety of Blood Beyond the Year 2000) มีการอภิปรายหมู่ ที่เรียกว่า Symposium การบรรยายพิเศษ (Plenary Lecture) การอภิปรายเพื่อหาแนวทาง และข้อสรุป (Panel Discussion) ในด้านของการให้คำปรึกษาและดูแลผู้บริจาคโลหิต นอกจากนี้ยังมีการเสนอผลงานโดยการบรรายายจากประเทศต่าง อีก 18 เรื่อง และการเสนอผลงานโดยโปสเตอร์ 19 เรื่อง และเพื่อเป็นการแสวงหาความร่วมมือในงานด้านบริการโลหิตในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก จึงได้มีการจัดประชุมกลุ่มพิเศษ ซึ่งจะเป็นผู้แทนจากสภากาชาดอาเซียน อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว เมียนม่าร์ ไทย เป็นต้น มาประชุมเพื่อปรึกษาหาแนวทางที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือ พัฒนางานบริการโลหิตร่วมกัน และจะได้สรรหาประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The 2nd APCDR สำหรับวิทยากรที่มาร่วมงานในครั้งนี้มีทั้งหมด 29 ท่าน ในจำนวนนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศต่าง ๆ รวม 15 ท่าน และจากประเทศไทย 14 ท่าน
สรุปแล้วการจัดประชุมในครั้งนี้ ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดหาผู้บริจาคโลหิตทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ ได้เข้ามานำเสนอผลงานให้รับรู้ อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชนให้มีมากขึ้น สร้างภาพพจน์ที่ชัดเจนในเรื่องของคุณภาพในการบริการโลหิต ให้ได้ทราบถึงการจัดหาผู้บริจาคโลหิต โดยใช้กลยุทธ์ด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ให้ทุกฝ่ายดำเนินงานโดยเน้นเรื่องของคุณภาพ และดูแลผู้บริจาคโลหิตในแนวทางเดียวกัน ตลอดจนมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการให้บริการข้อมูล เพื่อความถูกต้อง รวดเร็ว และนำมาประเมินผล เพื่อกำหนดนโยบายต่อไป
นอกจากนี้ในส่วนของการจัดประชุมพิเศษ กับกลุ่มผู้แทนกาชาดประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียนี้ เพื่อมาคุยปรึกษา 2 เรื่องด้วยกัน คือ การให้ความร่วมมือในงานบริการโลหิต จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม และหาข้อสรุปในการจัดประชุม The 2nd APCDR ว่าจะมีกำหนดจัดเมื่อใด และประเทศใดจะเป็นเจ้าภาพอีกด้วย--จบ--