สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติโรงพยาบาลแม่สอด

29 Dec 1997

กรุงเทพ--29 ธ.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

โรงพยาบาลแม่สอดสร้างอาคารบำบัดรักษางานสูติ-นรีเวชกรรม และไอ.ซี.ยู.แล้วเสร็จขอพระราชทานนามว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ" ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเสด็จเปิดอาคาร

วันนี้ (29 ธันวาคม 2540) เวลา 10.30 น.ที่โรงพยาบาลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติโรงพยาบาลแม่สอด โดยมีนายคำรณ ณ ลำพูน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายรายงาน

โรงพยาบาลแม่สอดเปิดบริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2502 ด้วยจำนวนเตียงผู้ป่วย 25 เตียง การดำเนินงานของโรงพยาบาลมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตลอด มีการพัฒนาบุคลากรเพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้น ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 310 เตียง มีภารกิจหลักคือให้บริการประชาชนที่มาขอรับบริการเองและรับการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชนหรือสถานีอนามัยในพื้นที่รวมทั้งประชาชนจากเขตอำเภอแม่ระมาด อ.ท่าสองยาง อ.อุ้มผาง อ.พบพระ มีการออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในถิ่นทุรกันดารอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องให้บริการแก่ทหารและประชาชนพม่าที่เจ็บป่วยจากการสู้รบของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ในปี 2540 นี้เฉลี่ยต่อวันจะมีผู้ป่วยนอกมารับบริการวันละ 485 ราย เป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติวันละประมาณ 44 ราย สำหรับผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 263 ราย เป็นชาวต่างชาติวันละ 72 ราย ให้บริการผ่าตัดเล็กปีละ 1,439 ราย ผ่าตัดใหญ่ 4,558 ราย จำนวนคลอด 2,242 ราย มีคลินิคพิเศษบริการกลุ่มเป้าหมายเฉพาะโรค 15 คลินิค ให้บริการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยด้านการรักษาพยาบาลรวม 44,859 ราย เป็นเงินรวมกว่า 40 ล้านบาท พบโรคมาเลเรียยังเป็นสาเหตุอัตราป่วยและตายสูง

สำหรับอาคารเฉลิมพระเกียรตินี้เป็นอาคารบำบัดรักษาผู้ป่วยด้านสูติ-นรีเวชกรรมและไอ.ซี.ยู สร้างจากงบผูกพันที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 54,880,000 บาท (ห้าสิบสี่ล้านแปดแสนแปดหมี่นบาทถ้วน) สร้างแล้วเสร็จส่งมอบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2540 ทางกระทรวงสาธารณสุขขอพระราชทานนามอาคารนี้ว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ" เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของใต้ฝ่าละอองธุรีพระบาท เนื่องจากปี 2539 เป็นปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี โดยเป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบด้วยชั้นที่ 1 เป็นหอผู้ป่วยหนัก (ไอ.ซี.ยู) 9 เตียงและห้องแยกผู้ป่วยหนัก 6 ห้อง ชั้นที่ 2 เป็นห้องคลอด มีเตียงคลอด 7 เตียง เตียงรอคลอด 5 เตียง ห้องผ่าตัด 1 ห้อง เตียงพักฟื้นหลังผ่าตัด 5 เตียง สำหรับชั้นที่ 3 เป็นหอผู้ป่วยสูติกรรม มีเตียงสามัญ 30 เตียง และห้องแยก 1 ห้อง ชั้นที่ 4 เป็นหอผู้ป่วยนรีเวชกรรม มีเตียงสามัญ 30 เตียง และห้องแยก 1 ห้อง จากจำนวนเตียงที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่านี้จึงทำให้ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอ แต่ทางโรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคจากภาครัฐและเอกชนจำนวน 6,418,617 บาท (หกล้านสี่แสนหนึ่งหมื่นแปดพันหกร้อยสิบเจ็ดบาทถ้วน) จัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มเติม คาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่มารับบริการมากขึ้น--จบ--