CPF ผนึกพลังธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

09 Jun 1998

กรุงเทพ--9 มิ.ย.--บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์

ที่ประชุมคณะกรรมการของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ (CPF) ได้ประกาศแผนที่จะมีการรวมกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำทั้งหมดของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CPG) มาอยู่ภายใต้ CPF โดยแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกิจการเกษตรอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดให้มาอยู่ภายใต้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพียงบริษัทเดียว จากวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะเน้นด้านการลงทุนในกิจการหลักของบริษัท และข้อตกลงที่ CPG จะไม่ทำแข่งขันกับบริษัท CPF CPF ตามรูปแบบใหม่จะกลายเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้าน สัตว์ปีก, สุกร, เป็ด, กุ้งแช่แข็ง, และอาหารสัตว์ โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมมากกว่า 38,000 ล้านบาท และมียอดขายรวมต่อปีมากกว่า 50,000 ล้านบาท โดยมากกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นยอดจากการส่งออกหรือเกี่ยวเนื่องกับการส่งออก นอกจากนี้ CPF ภายใต้การจัดโครงสร้างใหม่จะทำให้ CPF มีโอกาสที่จะขึ้นมาเป็นหนึ่งใน 20 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในด้าน

Market Capitalization อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รายการนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ CPF ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ก่อน จากการคาดการว่าธุรกิจภายในประเทศจะมีการเจริญเติบโตลดลง CPF ได้วางกลยุทธของกลุ่มใหม่ โดยจะเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มากขึ้น เช่น เน้นการผลิตอาหารสำเร็จรูปและการผลิตอาหารเพื่อส่งออก การลดลงของมูลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องจะเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของผู้ผลิตอาหารในประเทศกับคู่แข่งในต่างประเทศด้วย การรวมกิจการครั้งนี้เกิดขึ้นได้เสริมสร้างกลยุทธดังกล่าว เช่น จะสามารถทำให้ CPF มียอดขายสำหรับไก่แช่แข็งและอาหารสำเร็จรูปมากกว่า 6 พันล้านบาท โดยยอดขายส่วนมากจะมาจากการส่งออก

ในส่วนของตลาดในประเทศ บริษัทภายใต้โครงสร้างใหม่นี้ CPF จะมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในอุตสาหกรรมในประเภทผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่บริษัททำการผลิต ซึ่งได้แก่ ไก่เนื้อ, ไก่ไข่, สุกร, เป็ด, อาหารสัตว์, อาหารกุ้ง, และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเนื่อสัตว์ดังกล่าว แม้ว่าอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ต่างจะเบาบางลง แต่ตลาดภายในประเทศก็จะยังเป็นตลาดที่สำคัญของบริษัท กำลังการผลิตที่มีอยู่เดิมและที่จะมีเพิ่มขึ้นจะสามารถผลิตสินค้าครอบคลุมในพื้นที่ต่าง ๆ ในเกือบทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย

การลงทุนของ CPF ในอดีตจะลงทุนทั้งในธุรกิจหลักและธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของ CPF แต่เพื่อการเน้นดำเนินงานให้ตรงกับกลยุทธใหม่ CPF จะจำกัดการลงทุนในอนาคตให้อยู่แต่ในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมสัตว์น้ำเท่านั้น ในส่วนของการลงทุนนอกธุรกิจหลักที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันจะถูกขายออกไปตามแผนงานที่ได้วางไว้

นอกจากนี้ CPG ได้เซ็นสัญญาการไม่แข่งขันในธุรกิจประเภทเดียวกับที่ CPF ดำเนินงานอยู่ ซึ่งได้แก่ 1) การเลี้ยงและการแปรรูปสัตว์ปีก, เป็ด, สุกร และกุ้งกุลาดำ 2) อาหารสัตว์ปีก, เป็ด, สุกร, และ กุ้งกุลาดำ นอกจากนี้ CPF ยังคงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้ตราของ CP ในประเทศไทย

เพื่อที่จะสร้างกลุ่มบริษัทใหม่ CPF จะทำการเสนอซื้อหุ้นของ บมจ.กรุงเทพผลิตผลอุตสาหกรรมการเกษตร (BAP), บมจ.กรุงเทพโปรดักส์ (BKP), และ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อีสาน (CPNE) โดยใช้วิธีแลกเปลี่ยนหุ้น (share swap method) ปัจจุบัน CPF ถือหุ้นของ BAP, BKP, และ CPNE อยู่ 59.82%, 4.17% และ 57.00% ตามลำดับ CPF จะต้องออกหุ้นเพิ่มใช้ในการแลกหุ้นครั้งนี้จำนวน 43.5 ล้านหุ้น ตามอัตราการแลกเปลี่ยนด้านล่างนี้

หุ้น BAP 1 หุ้น

=

หุ้น CPF 61/54 หุ้น

หุ้น BKP 1 หุ้น

=

หุ้น CPF 22/54 หุ้น

หุ้น CPNE 1 หุ้น

=

หุ้น CPF 27/54 หุ้น

CPG และบริษัทในเครือ ได้เซ็นสัญญาหรือตกลงกับ CPF เพื่อขายหุ้นตามคำเสนอซื้อของ BAP, BKP, และ CPNE ซึ่งจะเป็นการประกันให้กับ CPF และบริษัทย่อย ว่าจะสามารถถือหุ้นของ BAP, BKP, และ CPNE อย่างน้อย 94%, 82% และ 91% ตามลำดับ

นอกจากนั้น CPF "ได้เซ็นสัญญากับ CPG ที่จะซื้อบริษัทต่าง ๆ ดังนี้

1. บจ. กรุงเทพอาหารสัตว์

2. บจ. เจริญโภคภัณฑ์อุตสาหกรรม

3. บจ. กรุงเทพค้าสัตว์

4. บจ. ฟาร์มกรุงเทพ

5. บจ. ซี.พี. เกษตรอุตสาหกรรม

6. บจ. บี.พี. อาหารสัตว์

7. บจ. ราชบุรีอาหารสัตว์

: บริษัทย่อยของ บจ. กรุงเทพอาหารสัตว์

8. บจ. ซี.พี. ผลิตภัณฑ์อาหาร

: บริษัทย่อยของ บจ. กรุงเทพค้าสัตว์

9. บจ. ซี.พี. อุตสาหกรรมอาหารส่งออก : บริษัทย่อยของ บจ. กรุงเทพค้าสัตว์ และ

ฟาร์มกรุงเทพ

(1) มูลค่าในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จะถูกซื้อ บวกกับ (2) การที่ CPG เซ็นสัญญาว่าจะไม่ทำธุรกิจที่จะมาแข่งขันกับ CPF และ (3) ให้สิทธิ CPF ที่จะใช้ตรา CP แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ได้คิดเป็นมูลค่ารวม 4 พันล้านบาท เพื่อจัดหาเงินทุนในการทำรายการดังกล่าว CPF จะขายใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นของ CPF อายุ 4 ปี จำนวน 50 ล้านหน่วย ซึ่งมีมูลค่ารวม เท่ากับ 1 พันล้านบาท ให้กับ CPG ใบสำคัญแสดงสิทธิแต่ละใบจะสามารถใช้สิทธิแลกหุ้น CPF 1 หุ้น ได้ในราคา 80 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของ CPG ในศักยภาพของ CPF ในอนาคต นอกจากนี้ CPF จะออกหุ้นใหม่อีก 50 ล้านหุ้นเพื่อขายเฉพาะเจาะจงแก่นักลงทุน

การเพิ่มทุนของ CPF ภายหลังการจัดโครงสร้างในครั้งนี้ จะทำให้ CPF มีหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นจาก 120 ล้านหุ้น เป็นประมาณ 213.5 ล้านหุ้นซึ่งยังไม่รวมหุ้นที่ออกเพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิอีก 50 ล้านหุ้น โดยมีโครงสร้างการถือหุ้นภายหลังการจัดโครงสร้างเป็นดังนี้

1. CPG และบริษัทลูก

49%

2. การถือหุ้นไขว้กันโดยบริษัทลูกของ CPF

8%

3. ประชาชนทั่วไป

43%

CPE ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ภัทรเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร และ Merrill Lynch (Asia Pacific) Limited เป็นผู้รับประกันการจำหน่ายร่วมในการออกจำหน่ายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงในครั้งนี้

หากมีข้อสงสัยประการใดโปรดติดต่อ แผนกลงทุนสัมพันธ์ CPF โทร. 642-1642, 699-5016, 699-5001-2--จบ--