จุฬาฯ จัดประชุมวิชาการ "มหากาพย์มหาภารตะ : ความสัมพันธ์ที่มีต่อวรรณคดีไทย"

14 Nov 2000

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--จุฬาฯ

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับชมรมบาลี-สันสกฤต จัดการประชุมทางวิชาการ เรื่อง "มหากาพย์มหาภารตะ : ความสัมพันธ์ที่มีต่อวัฒนธรรมไทยครั้งที่ 2" ในระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2543 ณ ห้อง 105 ตึกอักษรศาสตร์ 1 จุฬาฯ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกิตติมศักดิ์ของชมรมบาลี-สันสกฤต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จ ทรงเป็นประธานเปิดการแระชุมและทรงปาฐกถาพิเศษนำการประชุมในหัวข้อ "ภาพสลักเรื่องมหาภารตะที่พนมรุ้ง"

การประชุมทางวิชาการ เรื่อง "มหากาพย์มหาภารตะ : ความสัพทนัธ์ที่มีต่อวัฒนธรรมไทยครั้งที่ 2" เป็นการเผยแพร่ความรู้เชิงปริทรรศน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมหากาพย์มหาภารตะของอินเดียซึ่งเป็นวรรณคดีชั้นเยี่ยมของโลกที่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมไทยในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ตำนานท้องถิ่น และราชทินนามของขุนนาง ข้าราชการและ เจ้านาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีวรรณคดีไทยหลายเรื่องที่ไดรับอิทธิพลจากคัมภีร์มหาภารตะในด้านต่างๆ ทั้งในเชิงเนื้อเรื่องและการอ้างอิงตัวละคร เช่น ลิลิตยวนพ่าย กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนลคำหลวง บทละครเรื่องศกุนตลา สาวิตรี ฯลฯ การประชุมทางวิชาการครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลของมหากาพย์มหาภารตะที่มีต่อวรรณคดีไทยอย่างกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ขอเชิญนักวิชาการและผู้ที่สนใจร่วมการประชุมทางวิชาการครั้งนี้ ค่าลงทะเบียน 1,000 บาท ข้าราชการสามารถเบิกค่าลงทะเบียนจากต้นสังกัด และมาร่วมประชุมโดยไม่ถือเป็นวันลา สอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศษสตร์ จุฬาฯ โทร. 2184899,2184687 หรือ E-mail: [email protected] ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน ศกนี้--จบ--

-อน-