หุ้นปตท.ตอบรับกระแสการลงทุน จองซื้อผ่านสาขาธนาคารตัวแทนจำหน่ายกว่า 2,500 สาขาหมดอย่างรวดเร็ว

16 Nov 2001

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--ธ.ไทยพาณิชย์

ตามที่บมจ.ได้เสนอขายหุ้นมสามัญจำนวน 800 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 750 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมของกระทรวงการคลัง 50 ล้านหุ้นโดยขายให้กับนักลงทุนในประเทศ 60% และนักลงทุนต่างประเทศ 40% ซึ่งได้เปิดให้มีการเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป 220 ล้านหุ้นในวันที่ 15-16 และ 19-20 พฤศจิกายน นี้ ที่ทุกสาขาทั่วประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

โดยเมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดจองซื้อหุ้น ปตท.. นายมนู เลียวไพโรจน์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมด้วยนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธรุกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ. ปตท. ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัยประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) คุณชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนกลุ่มธนาคารตัวแทนจำหน่ายอีก 4 ธนาคาร และที่ปรึกษาทางการเงิน ได้เข้าร่วมชม "การเปิดระบบการจองซื้อหุ้น ปตท. ผ่านระบบ online ธนาคารไทยพาณิชย์" ณ ห้องไทยพาณิชย์ 1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ซึ่งผลปรากฎว่า ประชาชนและนักลงทุนรายย่อยได้ให้ความสนใจจองซื้ออย่างล้นหลามผ่านสาขาของทั้ง 5 ธนาคาร ซึ่งมีรวมกันกว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ โดยในส่วนของการจองหุ้น จำนวน 220 ล้านหุ้นนั้น ประชาชนและนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจจองหุ้นหมดภายในเวลาเพียง 1.25 นาที และสำหรับจำนวนหุ้น 340 ล้านหุ้น ซึ่งรวมในส่วนสำรองอีก 120 ล้านหุ้นนั้น หมดภายในระยะเวลา 4.4 นาที

โดยการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนและนักลงทุนรายย่อยในครั้งนี้ ได้มีการเสนอขายผ่านกลุ่มธนาคารที่เป็นตัวแทนทั้ง 5 ธนาคาร เพื่อให้มีการกระจายหุ้นสู่รายย่อยมากที่สุดตรงตามประสงค์ของบมจ.ปตท. และภาครัฐที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้ร่วมเป็นเจ้าของ ปตท. มากที่สุดซึ่งเป็นนโยบายหลักของการแปรรูปปตท.โดยได้เปิดให้มีการเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปและนักลงทุนรายย่อยในวันนี้เป็นวันแรก ซึ่งกลุ่มธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้ง 5 ธนาคารได้เปิดให้จองได้ในเวลา 9.30 น. อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยผ่านการจองดัวยระบบการของแบบ Online ที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นศูนย์เชื่อมต่อธนาคารตัวแทนจำหน่ายอื่นๆ เข้าสู่ระบบกลางการจองซื้อ ซึ่งรูปแบบเชื่อมต่อระบบจากทุกธนาคารที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายนั้น เป็นไปตามรูปแบบตามที่แต่ละธนาคารตกลงเป็นผู้เลือกใช้ โดยระบบการจองซื้อหุ้นสามัญของปตท.ในครั้งนี้นั้น ได้ใช้ระบบการจองก่อนได้ก่อน ผ่านระบบกลางการจองซื้อ ซึ่งเป็นระบบการจองซื้อเดียวกันกับที่ธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ในการจองซื้อหุ้นสามัญของบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง และหุ้นกู้ของบมจ. เยื่อกระดาษสยาม ที่ผ่านมา

นายสมชาย สัญญลักษณ์ศิริ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายธุรกิจตลาดทุนได้ให้สัมภาษณ์ว่า ยอดการซื้อหุ้นทั้งหมดจากกลุ่มธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่ายจากทั้ง 5 ธนาคารนั้น มีจำนวนรายการทั้งหมด 12,505 รายการ คิดเป็นจำนวนหุ้นประมาณ 363 ล้านหุ้น และคิดเป็นจำนวนเงินทั้งหมดประมาณ 12,693 ล้านบาท โดยมีการกระจายหุ้นในช่วงหุ้นของการจองซื้อ ดังนี้

ช่วงจำนวนหุ้น

สัดส่วนของจำนวนรายการ

1,000-5,000 หุ้น

35%

5,001-10,000 หุ้น

20%

10,001-30,000 หุ้น

18%

30,001-60,000 หุ้น

9%

60,001-100,000 หุ้น

18%

เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของจำนวนรายการในแต่ละช่วงจำนวน หุ้นดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นการกระจายสู่รายย่อยที่มีการจองหุ้นไม่เกิน 10,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 55% ซึ่งนับได้ว่าประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ ปตท. ที่ต้องการกระจายหุ้นสู่ประชาชนชาวไทยที่เป็นรายย่อยมากที่สุดทั่วทุกภาคของประเทศ โดยรายละเอียดของจำนวนรายการจองซื้อหุ้นที่กระจายตามภาคต่างๆ ในส่วนเฉพาะของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น มีดังนี้

ภาค

จำนวนรายการ

(รายการ)

กรุงเทพ-ปริมณฑล

2,776

ภาคกลาง

601

ภาคตะวันออก

298

ภาคอีสาน

351

ภาคเหนือ

289

ภาคใต้

296

สำหรับผลการจองซื้อของผู้ที่อยู่ในส่วนของการสำรองนั้น ผู้จองซื้อสามารถติดต่อรับทราบผลการจัดสรรได้ที่แต่ละสาขาซึ่งเป็นหน่วยงานขายของแต่ละธนาคารที่ท่านได้ติดต่อขอจองซื้อไว้ โดยจะทราบผลประมาณวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้และสำหรับกรณีของผู้จองซื้อรายย่อยที่ไม่ได้รับการจัดสรรนั้น จะได้รับการคืนเงินค่าจองซื้อหุ้นภายในระยะเวลา 14 วันนับจากวันสิ้นสุดระยะเวลาการจองซื้อ

อนึ่ง บมจ.ปตท. มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั้วไปในครั้งนี้ไปใช้เพื่อการลงทุนในโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Transmission) ตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2545-2553 และเพื่อชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดประมาณ 12,000 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างเงินทุนของบมจ. ปตท.ให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้การจำหน่ายหุ้นดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างเสถียรภาพในการบริหารงานให้กับ ปตท. ในอนาคตแล้ว ยังมีส่วนเพิ่มเสถียรภาพของสถานะราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ให้มั่นคงเข้มแข็งได้อีกด้วย--จบ--

-นห-